xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ ชี้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงแบงก์พาณิชย์ของไทยยังสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฟิทช์ ชี้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงแบงก์พาณิชย์ของไทยยังสูง ระบุเงินกองทุน และสำรองค่าเผื่อหนี้สูญของธนาคารไทยสามารถรับมือสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอได้

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยจะปรับตัวอ่อนแอลงในปี 2560 หลังจากที่ผลการดำเนินงานในปี 2559 มีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (impaired loans) และอัตรากำไรที่ปรับตัวด้อยลงเล็กน้อย ทั้งนี้ การปรับตัวด้อยลงดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมเป็นลบของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยที่ฟิทช์ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุน และอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยังคงปรับตัวเข็งแกร่งขึ้น และน่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอได้

จากการประกาศผลประกอบการปี 2559 ของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อรวมกันที่ประมาณ 85% ของสินเชื่อรวมของระบบ) ผลการดำเนินงานโดยรวมแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จาก 3.2% และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (special-mention loans) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ฟิทช์ คาดว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับหนี้สินของภาคเอกชน โดยเฉพาะระดับหนี้สินของภาคครัวเรือน จะส่งผลให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 81% ของ GDP ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2559 จาก 60% ณ สิ้นปี 2553 อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเนื่อง โดยฟิทช์ คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยน่าจะชะลอตัวลงจาก 3.2% เป็น 3.0%

จากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงมีการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจได้ชะลอตัวลงเช่นกัน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สินเชื่อโดยรวมมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง และจากผลประกอบการปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินเชื่อรวมเติบโตเพียง 3.9% ลดลงจาก 5.8% ในปีก่อน ทั้งนี้ ฟิทช์ คาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะผ่านพ้นระดับที่ต่ำสุดไปแล้วในปี 2559 และอัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้นมาในปี 2560 แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ และแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payments) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยากลำบากในปีก่อน อัตรากำไรของธนาคารยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 11.9% จาก 12.6% ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการที่ธนาคารสามารถลดสัดส่วนการพึ่งพาเงินฝากประจำที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูง และการแข่งขันในด้านเงินฝากที่ลดลง เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่มากพอ และอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง

ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุน และสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอสำหรับรับมือกับแนวโน้มการปรับตัวอ่อนแอลงของภาวะอุตสาหกรรมของภาคธนาคาร โดยอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 136% ณ สิ้นปี 2559 จาก 131% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1) ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (เฉพาะของธนาคาร) ปรับตัวขึ้นเป็น 14.7% ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 จาก 13.9% ณ สิ้นปี 2558 (อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับระบบธนาคารพาณิชย์) ฟิทช์ คาดว่า ทั้งอัตราส่วนเงินกองทุน และอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเฉลี่ยของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก แต่น่าจะเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทั้งนี้ ฟิทช์ยังคงแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ไว้ที่ “แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ” แม้ว่าภาวะอุตสาหกรรมของภาคธนาคารพาณิชย์จะมีแนวโน้มเป็นลบ
กำลังโหลดความคิดเห็น