xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ “พร้อมเพย์” อย่างเป็นทางการแล้ว 1 มี.ค. คิวเอกชน มั่นใจเพิ่มศักยภาพการเงินประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” ลั่นกดปุ่มเปิดให้บริการ “พร้อมเพย์” อย่างเป็นทางการ มั่นใจเพิ่มศักยภาพการเงินให้ประเทศ ด้านคลังเตรียมเปิดนิติบุคคลลงทะเบียนใช้ได้ 1 มี.ค.นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกระทบรายได้ธนาคาร 3.6 พันล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560 ได้เปิดตัวระบบพร้อมเพย์ พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการเงินของประเทศ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจลดต้นทุนทางการเงินส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และ e-commerce ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในที่สุด

“ยืนยันว่า ขณะนี้สามารถให้บริการพร้อมเพย์ ได้อย่างเป็นทางการแล้ว โครงการดังกล่าวถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐในการสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมสตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มี.ค.2560 จะเริ่มเปิดให้นิติบุคคลลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ และเริ่มให้บริการโอนเงินได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะเริ่มให้มีการใช้ใบกำกับภาษี (e-Tex Invoice) ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการเรื่องภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศอีกด้วย

“มั่นใจว่าในช่วงต้นปี 2561 จะสามารถเริ่มให้บริการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบตลาดทุนในการทำธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อให้การทำธุรกรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศไทยมีมาตรฐานเป็นสากล”

นอกจากนี้ ในส่วนการชำระเงินการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะเริ่มทดลองใช้ระบบการชำระเงินภายใน 2 วันทำการ หรือ T+2 จากเดิม คือ T+3 ซึ่งยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น จะต้องใช้เวลาในการปรับตัว ดังนั้น จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการเริ่มใช้จริงในต้นปี 2561 ขณะที่การชำระภาษีของนิติบุคคลนั้น ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะเริ่มให้ผู้ประกอบการส่งใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกรมสรรพากร แทนการส่งเอกสารที่เป็นกระดาษในปัจจุบัน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับ e-Payment หลังจากนี้ได้มีการวางแผนเป็นระยะ โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 จะเริ่มให้บริการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ จะเริ่มให้บริการ Bill-Payment อย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน

“เชื่อว่าในระยะต่อไปประชาชนจะให้ความสนในใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้น โดยจากข้อมูลปี 2558 พบว่า มีประชาชนกว่า 14 ล้านบัญชี มีการใช้บริการโอนเงินผ่านระบบ Mobile Banking กว่า 264 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 73% ต่อปี”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า พร้อมเพย์ และอีเพย์เมนต์ จะครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็กแรกเกิดในการจ่ายเบี้ย จนถึงวัยชราจนเสียชีวิต รวมทั้งรองรับการจ่ายเงินสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และจะเร่งติดตั้งเครื่องชำระเงินอีดีซี ให้ครบ 5.5 แสนเครื่อง ในเดือนมีนาคม 2561

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มาร่วมบริการพร้อมเพย์ มี 21 แห่ง พร้อมใจกันพัฒนาระบบอย่างเต็มที่ และมีการลดค่าธรรมเนียนการโอนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ คาดว่า หลังจากเปิดให้นิติบุคคลเข้ามาลงทะเบียนแล้วจะมีผู้ใช้บริการผ่านพร้อมเพย์ เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบัญชีได้ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าทำธุรกรรมปกติที่คิด 25-35 บาท

อัตราค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์ โอนเงินระหว่างบุคคลไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีค่าธรรมเนียม, มากกว่า 5,000 แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท คิดอัตรา 2 บาท, มากกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท คิดอัตรา 5 บาท และเกิน 1 แสนบาทขึ้นไป ถึงวงเงินสูงสุดที่กำหนดคิดอัตรา 10 บาท

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โครงการพร้อมเพย์ จะส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปี 2560 คาดอยู่ในช่วงประมาณ 3,100-3,600 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานอัตราการยอมรับนวัตกรรมของผู้ใช้บริการในปีแรกของโครงการพร้อมเพย์ ที่ 60% อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการพร้อมเพย์ เดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว คงสร้างผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้า ได้ไม่ต่ำกว่า 1,900 ล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น