วันที่1 กุมภาพันธ์นี้ หุ้นบริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด(มหาชน) ชื่อย่อ”เอสจีเอฟ” จะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากถูกพักการซื้อยาวเกือบ 10 ปี เนื่องจากมีปัญหาฐานะทางการเงิน
“เอสจีเอฟ” ดำเนินธุรกิจให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ในรูปแบบแฟคตอริ่งหรือการรับโอนสิทธิเรียกร้องทางการค้า โดยหุ้นถูกพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 และต้องย้ายเข้าสู่หมวดฟื้นฟูการดำเนินงาน แต่หลายปีที่ผ่านมา ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัว จนตลาดหลักทรัพย์อนุมัติให้พ้นจากเหตุอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
หุ้นเอสจีเอฟ ปิดครั้งสุดท้ายที่ราคา 11 สตางค์ แต่สุดจะเดาได้ว่า เมื่อกลับมาแจ้งเกิดใหม่ การซื้อขายวันแรกใน-ตลาดเอ็มเอไอ จะเคาะกันที่ราคาเท่าไหร่
หุ้นกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน เดิมชื่อกลุ่มฟื้นฟูกิจการหรือกลุ่มรีแฮปโก้ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 โดยบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะทางการเงิน อยู่ในข่ายถูกเพิกถอนจากตลาดหุ้น และถูกขึ้นเครื่องหมาย ”เอสพี” พักการซื้อขาย จะต้องย้ายเข้ากลุ่มรีแฮปโก้ เพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ
เมื่อฟื้นฟูกิจการสำเร็จ กลับมามีคุณสมบัติเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกครั้ง ตลาดหลักทรัพย์จะอนุมัติให้หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายใหม่
หุ้นที่หลุดจากกลุ่มรีแฮปโก้ และกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ ราคาวันแรกจะเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรงสุดเหวี่ยง เพราะไม่มีฐานราคา ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะนำมาประเมินถึงราคาหุ้นที่เหมาะสม นอกจากเก็งกำไรจากความคาดหมายแนวโน้มผลประกอบการ
และแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นรีแฮปโก้ มักถูกผู้บริหารบริษัทวาดฝันไว้อย่างเลิศหรูเกินจริง เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งจนราคาพุ่งไปหลายพันเปอร์เซ็นต์ จากราคาปิดครั้งสุดท้ายก่อนถูกพักการซื้อขาย
แมลงเม่าที่บินเข้าไปลุยหุ้นรีแฮปโก้ช่วงประมาณ 15 ปีก่อน ต้องเจ็บสาหัสกันแทบทั้งสิ้น เพราะหุ้นที่หลุดจากกลุ่มรีแฮปโก้ มักจะเป็นของปลอม มักจะเป็นหุ้นปั่น มีการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพอนาคตอันสดใสของกิจการ ประกาศขยายโครงการลงทุนมากมาย และผู้บริหารจะคุยโวว่า กำไรจะเติบโตก้าวกระโดด
แต่ผลประกอบการจริงกลับย่ำแย่ ขาดทุนต่อเนื่อง บางบริษัทเกิดปัญหาฐานะทางการเงินอีก จนหุ้นถูกพักการซื้อ และถูกจับยัดใส่หุ้นกลุ่มรีแฮปโก้รอบสอง
กลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน ยังมีหุ้นที่มีเหตุอาจถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกประมาณ 20 บริษัท โดยเอสจีเอฟ เป็นหุ้นตัวแรกของกลุ่มที่จะประเดิมกลับมาซื้อขายในปีนี้
ผลการดำเนินงาน”เอสจีเอฟ” ย้อนหลังหลายปีที่ผ่านมา แม้มีกำไร แต่กำไรตัวเลขระดับสิบล้านบาท ยอดรายได้รวมปีละไม่กี่สิบล้านบาท มียอดขาดทุนสะสมประมาณ 499 ล้านบาท โดยข้อมูลการดำเนินงานที่มี ยังไม่เพียงพอที่จะใช้คำนวณราคาหุ้น
ข้อมูลที่เป็นอีกสาระสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหุ้นเอสจีเอฟคือ ข้อมูลการเพิ่มทุนในรอบปี 2558 ซึ่งมีการเพิ่มทุน 4 ครั้ง ขายผู้ถือหุ้นเดิมเพียงครั้งเดียว ส่วนอีกสามครั้ง ขายบุคคลในวงจำกัดทั้งสิ้น
ครั้งแรก วันที่ 6 มกราคม 2558 เพิ่มทุนจำนวน 770.70 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน3 หุ้นเดิมต่อ 1หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 12 สตางค์
ครั้งที่สอง วันที่7 สิงหาคมปีเดียวกัน เพิ่มทุน 1,100 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนวงจำกัด (พีพี) ราคาหุ้นละ 12 สตางค์ ครั้งที่สาม วันที่ 25 พฤศจิกายน เพิ่มทุนจำนวน 4,734.39 ล้านหุ้น และครั้งที่สี่ วันที่ 9 ธันวาคม เพิ่มทุนจำนวน4,734.39 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนวงจำกัด ราคาหุ้นละ 9.5 สตางค์
1 ในจำนวนนักลงทุนมากว่า 20 คนที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน (พีพี) เอสจีเอฟ คือ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ”เสี่ยปู” นักลงทุนขาใหญ่ ซึ่งมักได้รับเชิญให้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง โดยถือหุ้นเอสจีเอฟจำนวน 1,965 ล้านหุ้น -ปรากฏชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง และยังมีกลุ่มนายวิชัย ทองแตงด้วย
ไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ที่ผูกมัดว่า นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนเอสจีเอฟจำนวนหลายพันล้านหุ้น จะต้องถือหุ้นลงทุนยาว โดยไม่เทขายทำกำไร เมื่อราคาหุ้นพุ่งทะยาน
ใครจะเข้าไปแลกหมัดวัดดวงกับหุ้น ”เอสจีเอฟ” ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ต้องลืมไม่ได้เด็ดขาดว่า นักลงทุนรายใหญ่ที่ตีตั๋วเข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้เมื่อสองปีก่อน ซื้อหุ้นไว้นับร้อยนับพันล้านหุ้นนั้น ต้นทุนเพียงหุ้นละ9.5 สตางค์
แมลงเม่าที่เตรียมแห่เข้าไปเก็งกำไร ถ้าไม่ดูตาม้าตาเรือ หลวมตัวไล่ราคาขึ้นไปแรงๆ ต้องระวัง เพราะมีโอกาสถูกขาใหญ่ที่ถือหุ้นต้นทุนต่ำทุบขายจนเดี้ยงได้