xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนคนหุ้น : ถมเงินเพิ่มทุน “เฟอร์” ดีไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER เพิ่งประกาศข่าวตูมตาม ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ หันไปสู่ธุรกิจพลังงาน และวาดภาพแนวโน้มผลประกอบการอย่างสวยหรู

นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ ให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า ปีนี้ผลประกอบการบริษัทจะดีขึ้น จะเป็นกิจการเทิร์นอะราวนด์หรือกิจการที่พลิกฟื้น หลังจากขาดทุนหนักหลายปีติดต่อกันจนมียอดขาดทุนสะสมกว่า 1 พันล้านบาท

คณะกรรมการบริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด จัดประชุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 และมีมติเพิ่มทุน 1,438,799,970 บาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 1,438,799,970 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท จัดสรรขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท

พร้อมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์ ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี ในสัดส่วน 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ โดย 1 วอร์แรนต์ แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 1 หุ้น กำหนดราคาแปลงสภาพ 1.25 บาท

และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 300 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจงจำนวน 3 ราย แบ่งขายรายละ 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท

นอกจากนั้น ยังมีมติซื้อหุ้นบริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด จำนวน 6 แสนหุ้น หรือ 100% ของทุนจดทะเบียน ราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท โดยซื้อในวงเงินไม่เกิน 550 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนซื้อโรงไฟฟ้าชีวภาพ และชีวมวลอีกหลายแห่ง

ฝันของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะมีโอกาสเป็นจริงหรือไม่ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 9,252 ราย ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 86.62% ของทุนจดทะเบียน จะเป็นผู้ให้คำตอบ

ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยมั่นใจว่า การเบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงาน FER จะมีผลประกอบการดีขึ้นจริง ถ้าเชื่อว่า ฝ่ายบริหารบริษัทไม่ได้คุยโวเกี่ยวกับอนาคตเกินจริง ยอมจ่ายเงินเพิ่มทุน แผนการระดมทุนครั้งนี้จะราบรื่น

แต่ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยเกิดหวั่นไหวว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะถมไม่เต็ม ไม่เชื่อว่าฝ่ายบริหารจะพลิกฟื้นบริษัทจนมีกำไรได้ กลัวว่า ผลดำเนินงานของบริษัทจะฟุบต่อไป ไม่ยอมควักกระเป๋าซื้อหุ้นเพิ่มทุน แผนระดมเงินรอบใหม่อาจ “ล้มพับ”

หุ้นเพิ่มทุน FER กำหนดชำระเงินระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเวลาไตร่ตรองจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่

ราคาหุ้น FER ล่าสุด ซื้อขายในกระดานแถวๆ หุ้นละ 85 สตางค์ ต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะนำมาขายราคา 1 บาท คำถาม คือ ขายหุ้นตัวแม่ทิ้ง สละสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนราคา 1 บาท โดยไม่ต้องสนใจสินค้าพ่วง หรือวอร์แรนต์ที่นำมาล่อใจ และซื้อหุ้นในกระดานในราคาต่ำกว่าดีหรือไม่

ธุรกิจพลังงาน ถูกใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง โดยฝ่ายบริหารบริษัทที่จนตรอก คิดหาลูกเล่นกระตุกราคาหุ้นไม่ออก มักสร้างข่าวการเบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงาน

แต่ถ้าธุรกิจพลังงานเป็นแก้วสารพัดนึก ทำให้ผลประกอบการดีจริง ทำไมบริษัทจดทะเบียนกว่า 600 แห่ง จึงไม่ฉลาด ทิ้งธุรกิจหลักเดิม และหันเข้าสู่ธุรกิจพลังงานกันทั้งหมด

ถ้าธุรกิจพลังงานสร้างกำไรได้ดีจริง ทำไมบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหลายแห่ง จึงขาดทุนต่อเนื่อง บางบริษัทขาดทุนจนฐานะทางการเงินมีปัญหา หุ้นถูกพักการซื้อขายยาว

ปี 2558 เฟอร์ ประกาศเพิ่มทุน 4 รอบ นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม 2 รอบ ขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง 2 รอบ แต่ทุนที่ระดมไประเหิดเกือบหมด ขณะที่ผลประกอบการบริษัททรุดลงต่อเนื่อง

คณะกรรมการบริษัทเฟอร์ นอกจากนายประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างถูก ก.ล.ต.พักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในตลาดทุน 2 ปี ช่วงที่เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด และนางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ มีกลุ่ม “พุ่มพันธุ์ม่วง” กลุ่มนักลงทุนขาใหญ่ “พันธุ์วงศ์กล่อม” และนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ซึ่งเพิ่งขายหุ้น a day ให้บริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR

FER เป็นอีกปรากฏการณ์ของบริษัทจดทะเบียนที่เต็มไปด้วยผู้ถือหุ้นรายย่อย และเป็นกลุ่มที่ถือหุ้นเกินกว่า 80% ของทุนจดทะเบียน มีพฤติกรรมระดมทุนถี่ อ้างว่า นำเงินไปขยายการลงทุน หรือซื้อขายทรัพย์สินกันอีลุงตุงนัง แต่ผลประกอบการขาดทุนป่นปี้

ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ร่วมลงขัน ถมเงินไปในบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ จึงต้อง “วิ่งตามควาย” ไล่ตามทุนจนถึงทุกวันนี้


ผู้ถือหุ้น FER จึงต้องคิดให้หนัก จะถมเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนดีหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น