หลังจากบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งทยอยกันออกมารับสารภาพผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบีอี) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกโรง เพื่อระงับความตื่นตระหนกของนักลงทุน โดยยืนยันว่า ตั๋วบีอีที่เกิดปัญหามีเพียงส่วนน้อย และจะไม่กระทบต่อตลาดตราสารหนี้
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งกำกับดูแลการออกตั๋วบีอี ได้จัดทำเอกสารรวบรวมข้อมูลตราสารหนี้แต่ละประเภท เปรียบเทียบให้เห็นว่า วงเงินการออกตั๋วบีอี มีสัดส่วนที่น้อยมาก เพื่อเทียบกับตราสารหนี้ทั้งระบบ
และตั๋วบีอีที่เน่า มีจำนวนเพียงประมาณ 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 0.38% ของมูลค่าหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดเรตติ้ง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 2.6 แสนล้านบาท
สิ้นไตรมาสที่สามปี 2559 ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 3.58 ล้านล้านบาท มีตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเรตติ้ง ประกอบด้วยหุ้นกู้และตั๋วบีอี จำนวน 2.6 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 7.2% ของมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด
พิจารณาจากข้อมูลตลาดตราสารหนี้ที่ ก.ล.ต.รวบรวมมาเผยแพร่ คงต้องเห็นพ้องว่า ตั๋วบีอีที่เด้งกันเป็นโดมิโนในตลาดหลักทรัพย์วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นวงเงินพียงส่วนน้อย และยังไม่มีผลกระทบอะไรกับกับตลาดตราสารหนี้
แต่การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีที่ปรากฏเป็นข่าว จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตตั๋วบีอีเน่าหรือไม่ และจะเป็นสัญญาณเตือนภัยหนี้เสียครั้งใหญ่ที่จะตามมาหรือไม่
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นกิจการที่มีฐานะแข็งแกร่งกว่าบริษัททั่วไป มีเครดิตความน่าเชื่อถือ สามารถระดมทุนได้หลายช่องทาง ทั้งการเพิ่มทุน ออกห้นกู้ ออกตั๋วบีอี หรือกู้เงินจากสถาบันการเงิน
แต่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกลับผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้น สร้างแรงสั่นสะเทือนกับตลาดตราสารหนี้
สร้างความเสียหายกับบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ซื้อตั๋วบีอีลงทุนไว้ รวมทั้งทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินด้วย
เพราะจะมีเพียงบริษัทจดทะเบียน 3 หรือ 4 แห่งเท่านั้น หรือที่มีปัญหาสภาพคล่อง จนหมดความสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
และมีเพียงหนี้ตั๋วบีอี เท่านั้น หรือที่เกิดปัญหา ในเมื่อบริษัทจดทะเบียนบางแห่งไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
ตั๋วบีอี วงเงินเพียงไม่กี่สิบล้านบาท หรือไม่กี่ร้อยล้านบาท บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งยังไม่สามารถไถ่ถอนได้ หุ้นกู้ที่นำเสนอขาย หนี้ที่กู้จากสถาบันการเงิน หรือแม้แต่หนี้การค้า จะไม่เกิดปัญหาชำระหนี้ตามมาหรือ
ตลาดตราสารหนี้มูลค่าประมาณ 3.58 ล้านล้านบาท ที่หลายหน่วยงานพยายามออกมาปกป้องนั้น ไม่ใช่ประเด็นหลักเสียแล้ว ถ้าวิกฤตตั๋วบีอีเน่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการปะทุของหนี้ทั้งระบบ
วิกฤตตั๋วบีอีเน่านั้น ไม่น่ากลัว เพราะอยู่ในวิสัยที่จะควบคุมจำกัดผลกระทบได้ แต่ถ้าปัญหาตั๋วบีอี เป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยในวิกฤตหนี้ครั้งใหม่ที่อาจกลับมาเยือน คงะต้องเตรียมการรับมือกันขนานใหญ่ล่วงหน้า
อย่ามองข้ามวิกฤตตั๋วบีอีเน่า อย่ามองโลกสวยกันเกินไป อย่าพยายามปิดสัญญาณเตือนภัยในวิกฤตหนี้ที่อาจตามมา แต่ต้องส่งสัญญาณตรงไปถึงนักลงทุน
เตือนนักลงทุนไม่ให้หลงระเริง เตือนให้จับตาพัฒนาการวิกฤตหนี้ตั๋วบีอีอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าปัญหาสภาพคล่องบริษัทจดทะเบียนลุกลาม การเบี้ยวหนี้ขยายไปในวงกว้าง จะกระทบระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดหุ้นจะปั่นป่วน
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นักลงทุนต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะไม่มีใครเตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง ทั้งที่มีสัญญาณร้ายก่อตัวมาก่อนหน้า เหมือนสัญญาณร้ายจากวิกฤตตั๋วบีอีเน่านี่แหละ