xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ขึ้นบัญชีหุ้นเจ้าเล่ห์ จ้องฟัน “เค.ซี.” ปกปิดงบฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.เตรียมจัดทำแฟ้มทะเบียนประวัติ บจ. เก็บข้อมูลพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด สร้างระบบเตือนภัยติดตามความเคลื่อนไหว เกาะติดหุ้น เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ พร้อมฟันคดีอาญาถ้าจงใจปกปิดข้อมูลงบการเงิน

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เปิดเผยว่า ในปีนี้มีแผนงานการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือพฤติกรรมการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส เอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ซึ่งจะจัดเก็บเป็นรายบริษัท และบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดซ้ำซาก จะเฝ้าติดตามสอดส่องเป็นกรณีพิเศษ

เลขาธิการก.ล.ต. กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริหารงานที่อาจไม่โปร่งใส จะทำให้ ก.ล.ต.สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียนได้มากขึ้น สามารถค้นหาประวัติได้ว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งใดเคยมีพฤติกรรมอย่างไร โดยบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดซ้ำซาก จะเฝ้าระวังได้มากขึ้น แต่หากพบพฤติกรรมความผิด จะดำเนินตามความผิดทันที

“การทำธุรกรรมของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ธุรกรรมบางอย่าง ระยะเริ่มแรกเราอาจไม่รู้ว่า เป็นช่องทางการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นทั่วไป หรือเอาเปรียบนักลงทุน แต่เมื่อเกิดธุรกรรมซ้ำซาก จึงเห็นถึงความไม่ปกติ และเห็นถึงช่องทางการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่ง ก.ล.ต.จะเก็บรวบรวมข้อมูลธุรกรรมที่เข้าไปข่ายความไม่โปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง แต่วางแนวทางกำกับดูแล ป้องกัน และแก้ไข” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

สำหรับบริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC ซึ่งไม่บันทึกบัญชีการออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบีอี) ในงบการเงิน และตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นั้น นายรพี กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการติดตาม โดยจะรอการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ก่อน ถ้าการไม่ลงบันทึกบัญชีตั๋วบีอี เป็นความจงใจปกปิดข้อมูล เพื่อให้ความเข้าใจผิดในงบการเงิน ก.ล.ต.จะกล่าวโทษความผิดทางอาญาทันที

“หุ้นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายความไม่โปร่งใส และถูกส่งสัญญาณเตือนให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนหลายครั้ง ไม่เข้าใจว่า ทำไมนักลงทุนจึงยังเข้าไปซื้อขายหุ้นประเภทนี้ หรือว่านักลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจคำเตือนใดๆ เลย” นายรพี กล่าว และว่า นักลงทุนควรจะเริ่มต้นการลงทุน โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมก่อน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ จนเมื่อมีความเข้าใจตลาดหุ้นดีพอแล้ว จึงเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นโดยตรง เพราะถ้ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอ การลงทุนหุ้นโดยตรง อาจเกิดความเสียหายได้” นายรพี กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงบริษัทโบรกเกอร์ และเจ้าหน้าที่การตลาด หรือมาร์เกตติ้งว่า จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคุณภาพ เพราะการแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการ และการให้คำแนะนำนักลงทุนจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค ซึ่งถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนจะสามารถพิจารณาตัดสินใจลงทุน และเลือกหุ้นที่จะลงทุนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอคำแนะนำผ่านมาร์เกตติ้ง เพราะระบบฟินเทคจะมีข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านให้นักลงทุน

ทุกวันนี้นักลงทุนรู้สึกว่า มาร์เกตติ้งไม่ได้ให้อะไรกับนักลงทุน นอกจากทำรายการซื้อขายตามคำสั่งเท่านั้น เมื่อบริการไม่มีคุณภาพ ไม่มีข้อมูล หรือคำแนะนำที่ดี รายได้จากค่าบริการ หรือค่านายหน้าซื้อขายจึงต่ำ โบรกเกอร์แต่ละแห่งต้องแข่งกันลดค่านายหน้า ทั้งที่ควรจะแข่งการพัฒนาด้านคุณภาพ” นายรพี กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น