ธพว.เปิดตัวแคมเปญสินเชื่อ SMART SMEs บัญชีเดียว วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 5% สนับสนุน SMEs บุคคลธรรมดาที่ผันมาประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล เล็งออกซอฟต์โลนใหม่ 1.5 หมื่นล้าน เน้นกลุ่มสตาร์ทอัป การค้าเออีซี กลุ่มพัฒนานวัตกรรม และกลุ่มที่โดนผลกระทบเศรษฐกิจ
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดตัวแคมเปญสินเชื่อ SMART SMEs บัญชีเดียว หรือสินเชื่อเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสังคมผู้ประกอบการที่ดี ดำเนินธุรกิจโปร่งใส ตรวจสอบได้อยู่ในระบบบัญชีเดียว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ได้รับการช่วยเหลือพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement) ในหลากหลายด้านจากภาครัฐ และหน่วยงานเครือข่าย ทั้งในมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ผ่านระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) หรือการผลักดันด้านการตลาดยุคใหม่ E-Commerce ซึ่งจะอำนวยความสะดวก ลดค่าต้นทุนรายจ่าย เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในรูปแบบนิติบุคคล และสามารถสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต รองอธิบดีกรมสรรพากร นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. ร่วมแถลงข่าวสินเชื่อ SMART SMEs บัญชีเดียว วงเงินโครงการรวม 10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำเพียง 5% ในปีแรก และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี ใช้หลักประกันตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้มีเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยาย หรือปรับปรุงกิจการ โดยเน้นผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ ร้านขายยา ร้านทอง ร้านแว่นตา และธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว บริษัทเช่ารถ ร้านขายสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจสปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการนิติบุคคลทั่วไปที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ที่ประกอบธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง ผลิต หรือให้บริการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทางธนาคาร โดย ธพว.ออกโครงการสินเชื่อดังกล่าวให้สอดคล้องกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 “มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล”
ในวันนี้ ธพว.ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฯ กับ 4 หน่วยงานพันธมิตร คือ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในรูปแบบสินเชื่อ หรือเงินร่วมลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ และการตลาด โดย ธพว.ให้การส่งเสริมสนับสนุนด้านเงินทุน และการพัฒนาผู้ประกอบการ กรมสรรพากร จะถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านภาษีบัญชี เป็นต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดัน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถจดแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคล
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถ่ายทอดความรู้ ด้านระบบการจัดการ ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ และให้ต่อยอดทั้งด้านเงินทุน และการเชื่อมโยงผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ เพื่อจัดการระบบในการดำเนินกิจการ สมาคมโรงแรมไทย ร่วมคัดกรอง ผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่แหล่งเงินทุนของธนาคาร ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ทำให้มีผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ถ้าผลักดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ก็สามารถมาใช้บริการสินเชื่อ SMART SMEs บัญชีเดียวได้ทันที เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ในด้านการเงินทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวถึงผลประกอบการ ธพว. ณ สิ้นปี 2559 ว่า ธนาคารช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จำนวน 11,225 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อรวม 34,621 ล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อราย 3 ล้านบาท และบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้ตามเป้าหมาย มียอด (NPLs) ลดลงคงเหลือ 17,822 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันกับปี 2558 มียอด (NPLs) 23,452 ล้านบาท ลดลง 5,630 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,681 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันกับปี 2558 มีกำไรสุทธิรวม 1,235 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 446 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.11
ปี 2560 ธพว.วางแผนดำเนินงานตามที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ปี 2560 ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินอย่างมีเสถียรภาพ ลดภาระการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ โดยมีเป้าหมายยอดเบิกจ่ายสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ลดยอด NPLs ไม่เกิน 16,600 ล้านบาท
2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs (SME Development Bank for SME Spring up) ทั้งในด้านแหล่งเงินทุน และการพัฒนาศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาความรู้ทางธุรกิจ 4,500 ราย มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 1,100 ราย และมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น 550 ราย รวมทั้งมีเป้าหมายการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ 50 ราย โดยมีจำนวนเงินที่เข้าร่วมลงทุน รวมทั้งเงินลงทุนในระบบ Eco System จำนวน 1,000 ล้านบาท
3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรเพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ผ่านการพัฒนาระบบงานให้มีมาตรฐาน การเพิ่มทักษะบุคลากรควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมสุจริต ซึ่งได้ประกาศคุณธรรมรวมพลังทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลสตมวาร 100 วัน รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน โดยธนาคารยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู ธพว.ที่ได้กำหนดบทบาท และทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ บนพื้นฐานการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล