บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่ผู้ถือหุ้นต้องลุ้นระทึกว่าจะเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ได้หรือไม่ โดยภายในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะแจ้งผลการเจรจากับเจ้าหนี้ให้ตลาดหลักทรัพย์รับทราบ ยอดหนี้ที่ “ริช” ผิดนัดชำระ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,055 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการออกหุ้นกู้ มีหนี้จากตั๋วบี/อีเพียง 20 ล้านบาท
สาเหตุการผิดนัดชำระหนี้ ผู้บริหารบริษัทระบุไว้ในเอกสารที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างชัดเจน คือ วิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามเป้าหมาย คณะกรรมการบริษัทมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายบน 2559 อนุมติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,400 ล้านบาท เป็น 9,600 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ จำนวน 7,200 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท และนำหุ้นจำนวน 4,800 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหึ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 30 สตางค์ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,400 หุ้น เตรียมไว้รองรับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์ ที่จะจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นต่อ 1 วอร์แรนต์
ถ้าผู้ถือหุ้นใส่เงินลงมาใหม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนกันทั้งหมด คณะกรรมการบริษัทจะมีเงินเข้ามาให้ใช้อย่าง “มันมือ” อีก 1,440 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่สละสิทธิ ไม่ยอมควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน มีเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้สิทธิ หุ้นเพิ่มทุนจึงขายได้เพียงประมาณ 715 ล้านหุ้น รวมเป็นวงเงินประมาณ 214.50 ล้านบาท แผนการสูบเงินจากผู้ถือหุ้นเพื่อชำระหนี้ต้องล้มเหลว ข้อแก้ตัวของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน บางบริษัทอ้างว่า ฝ่ายบริหารเกิดความขัดแย้งภายใน บางบริษัทอ้างว่าได้รับแจ้งการไม่ต่ออายุหนี้กะทันหัน จึงจัดหาเงินชำระหนี้ไม่ทัน
แต่สำหรับบริษัท ริชฯ รับสารภาพโดยตรงว่า ผู้ถือหุ้นไม่ยอมใส่เงิน ไม่หลวมตัวซื้อหุ้นเพิ่มทุน ผู้บริหารจึงจนปัญหาหาเงินจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด และการที่ผู้ถือหุ้นไม่ยอมถมเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนห้นริช เป็นการตัดสินใจที่ถูกอย่างยิ่ง เพราะถ้าใส่เงินลงมาจะต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวอีก
“ริช” เป็นหุ้นอีกตัวที่เพิ่มทุนถี่ยิบ ปี 2557 เพิ่มทุน 3 ครั้ง ขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง 2 ครั้ง และขายผู้ถือหุ้นเดิม 1 ครั้ง ปลายปี 2559 ประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นขายผู้ถือหุ้นเดิม โครงสร้างผู้ถือหุ้นริช เต็มไปด้วยนักลงทุนรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 9,266 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 94.40% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งหมายความว่า การออกหุ้นใหม่ขายผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อระดมเงินแต่ละครั้งนั้น นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ควักกระเป๋าจ่าย ส่วนคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับเงิน และนำเงินไปจัดสรรใช้จ่ายตามแต่บริษัทจดทะเบียนที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะเพิ่มทุนถี่ยิบ จนผู้หุ้นรายย่อยมีสภาพไม่แตกต่างจากตู้เอทีเอ็ม ขณะที่ฝ่ายบริหารบริษัทมีฐานะเป็นผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม ต้องการเงินด่วนเมื่อไหร่ กดเงินใช้ได้ตลอดเวลา
เพียงแต่การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของ “ริช” ที่เดินสะดุดอาจเป็นเพราะผู้ถือหุ้นรายย่อย “ไหวตัว” เสียก่อน ไม่ยอมควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าถ้าควักกระเป๋าจะเจ็บตัวอีกรอบ เพราะราคาหุ้นที่ซื้อขายในกระดานทรุดตัวลงต่อเนื่องหลังการชำระเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยล่าสุด เหลือเพียงประมาณ 20 สตางค์ ต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ฝ่ายบริหารบริษัทนำมาขายในราคาหุ้นละ 30 สตางค์ ใครหลงจ่ายเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนต้องขาดทุนไปแล่วหุ้นละประมาณ 10 สตางค์ หรือประมาณ 30% บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีลักษณะถมไม่เต็ม ระดมเงินไปเท่าไหร่ไม่รู้จักพอ และยังก่อหนี้ที่ไม่มีปัญญาจ่ายคืนตามกำหนดเสียอีก ผลดำเนินงานก็ย่ำแย่ ขาดทุนหลายปีติดต่อ ต้องขอบอกว่าโชคดีแล้วสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ทิ้งหุ้นเพิ่มทุน “ริช” แต่ถ้ายังหลงเหลือหุ้นตัวนี้อยู่ในมือ ต้องลุ้นตัวโก่งว่าฝ่ายบริหารบริษัทจะได้รับความปรานีจากเจ้าหนี้ ยืดอายุหนี้ให้หรือไม่ เพราะถ้าเจ้าหนี้ไม่ปรานี ผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบหมื่นคนแย่แน่ๆ และเรียกหาความรับผิดชอบจากกรรมการ “ริช” ไม่ได้เสียด้วย
ชุมชนคนหุ้น...สุนันท์ ศรีจันทรา