xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เรียก บลจ.ถกด่วน ขีดวงผลกระทบตั๋วบี/อี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.เรียกบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนหารือด่วน วางมาตรการรับมือผลกระทบตั๋วบี/อี ที่มีปัญหาไถ่ถอน ขีดวงความเสียหายกองทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ กำหนดผู้ถือหุ้นหน่วยลงทุนวันที่ตั๋วแลกเงินถูกปฏิเสธชำระหนี้งแบกรับขาดทุน

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เชิญผู้บริหาร บลจ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ บลจ.ที่บริหารกองทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ และลงทุนในตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วบี/อี เข้าหารือ เพื่อกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบจากการที่ผู้ออกตั๋วบี/อี ไม่สามารถไถ่ถอนได้ เพราะมีแนวโน้มว่า บริษัทที่ออกตั๋วบี/อี บางแห่งจะมีปัญหาในการชำระหนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก.ล.ต.กังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ เพราะมีกองทุนรับสิบแห่งที่ปลงทุนในตั๋วบี/อี ซึ่งหากเกิดปัญหาการชำระหนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องได้รับความเสียหาย กระทบต่อความเชื่อมั่นของกองทุนรวมทั้งระบบ จึงวางแนวทางจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ตั๋วบี/อี ที่ครบกำหนดเวลาไถ่ถอนถูกปฏิเสธการชำระหนี้เป็นผู้แบกรับความเสียหาย เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิจะลดลง และหากภายหลังได้รับการชำระหนี้คืน จึงนำเงินมาเฉลี่ยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่แบกรับความเสียหายไปก่อนหน้า

“ก.ล.ต.กำชับให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม พิจารณาการลงทุนในตั๋วบี/อี อย่างรอบคอบ ต้องกลั่นกรองบริษัทที่ออกตั๋วบี/อี เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในการลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนจะเสียหาย” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับตั๋วบี/อี ที่กลับมาเป็นที่นิยมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากเป็นช่องทางระดมเงินที่คล่องตัวภายในเวลารวดเร็ว เพราะไม่จำเป็นต้องจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยความมเสี่ยงการลงทุนขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ออก ถ้าเป็นตั๋วบี/อี ของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ปูซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด ถือว่าความเสี่ยงต่ำ แต่ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนตั๋วบี/อี ของบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงลิบถึงระดับ 8% เพื่อจูงใจลงทุนความเสี่ยงจะสูง เพราะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้

“กองทุนรวมตราสารหนี้เทอมฟันด์เข้าไปลงทุนในตั๋วบี/อี กันมาก เพราะแรงจูงใจด้านผลตอบแทนจากดอกเบี้ย และภาวการณ์แข่งขันขยายฐานกองทุน ทำให้ผู้จัดการกองทุนอาจขาดความพิถีพิถันในการเฟ้นบริษัทที่ออกตั๋วบี/อี จนทำให้เกิดความผิดพลาด และทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อถือกองทุนรวมทั้งระบบซ้ำรอยอดีต” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้เทิดฟันด์ จะต้องคำนึงถึงความเสียหายของนักลงทุน โดยก่อนเสนอขาย ควรอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลรอบด้านในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน เพราะหากไม่ชี้แจงข้อมูลที่ครบถ้วน หากผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเสียหาย อาจโจมตีบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนได้ และในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

สำหรับตั๋วแลกเงินที่กำลังมีปัญหาการชำระหนี้ขณะนี้ คือ ตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัท อินเตอร์ฟาร์อิสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเฟค วงเงิน 200 ล้านบาท โดยตั๋วครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจำหน่าย และขอเลื่อนการชำระเป็นวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และทำให้ราคาหุ้นไอเฟค ถูกเทขายจนราคาทรุดลงอย่างหนัก ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะสั่งขึ้นเครื่องหมาย “เอช” พักการซื้อขายหุ้นไอเฟค ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น