xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยพื้นฐานที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาทองคำและแนวโน้มราคาทองคำในปี 2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัจจัยพื้นฐานที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ และแนวโน้มราคาทองคำในปี 2017
   เป็นที่จับตาต่อไปว่า ราคาทองคำในปีนี้จะเป็นอย่างไร โดยยังมีหลากหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อราคาทองคำในปีนี้ ซึ่งสัปดาห์นี้ YLG ได้ประมวลปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ และแนวโน้มราคาทองคำในปี 2017 มาให้นักลงทุนได้รับทราบกันเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบกลยุทธ์การลงทุนทองคำ ดังนี้

ปัจจัยลบ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด : ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีท่าทีในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าเกิดจากการปรับตัวเพื่อตอบรับต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากนโยบายการดำเนินนโยบายการคลังขนาดใหญ่ของนายทรัมป์ ทั้งการลดภาษี การใช้จ่าย และการผ่อนคลายกฎระเบียบตามที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้น จึงส่งผลให้เฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วขึ้นในปี 2017 หากปีนี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งตามคาด หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วมากกว่า 3 ครั้ง อาจยิ่งหนุนสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้พุ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันราคาทองคำในปี 2017

การคาดการณ์ในเชิงบวกต่อนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ : การคาดการณ์ในเชิงบวกต่อนโยบายของนายทรัมป์ กระตุ้นความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง (Risks-on) ในหมู่นักลงทุน ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีดาวน์โจนส์พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใกล้ 20,000 จุด ขณะที่ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ได้กระตุ้นแรงขายทองคำที่อยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นต้นมา กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการลดการถือครองทองคำต่อเนื่องมากกว่า 130 ตัน สะท้อนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลง หากในปีนี้ทรัมป์ ยังสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ จะส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงพุ่งขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวของราคาทองคำได้ โดยเน้นจับตาความเคลื่อนไหวของกองทุน SPDR ในปีนี้อย่างใกล้ชิด

อุปสงค์ทองคำในจีน และอินเดียที่อาจซบเซาต่อเนื่อง : อุปสงค์ทองคำในสองตลาดหลักอย่างจีน และอินเดียซึ่งเคยเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำให้มีเสถียรภาพตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2016 ซบเซาเกินคาด โดยราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสร้างแรงกดดันอุปสงค์ทองคำในด้านเครื่องประดับทั้งในจีนและอินเดีย

        ต้นปี 2016 อินเดียประสบปัญหาผู้ค้าเครื่องประดับนัดหยุดงานประท้วงรัฐบาลอินเดียที่ประกาศจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 1% ต่อเครื่องประดับทอง และล่าสุด นายกรัฐมนตรีนาเรนดรา โมดี ประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชัน และ “เงินนอกกฎหมาย” ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ทองคำในอินเดีย เนื่องจากมีการประเมินกันว่าราว 1 ใน 3 ของการซื้อทองในอินเดียเป็นการซื้อที่ชำระด้วยเงินนอกกฎหมาย ทำให้ Metals Focus ออกมาคาดการณ์ว่า ในที่สุดแล้วการมาตรการควบคุมของรัฐบาลอาจส่งผลให้เกิดการลดลงอย่างถาวรของบริมาณอุปสงค์ทองคำของอินเดียราว 100-150 ตันต่อปี หากอุปสงค์ทองคำจากทั้ง 2 ตลาดหลักอย่างจีน และอินเดียยังคงชะลอตัวในปีนี้ อาจทำให้ราคาทองคำขาดปัจจัยหนุน และกดดันการฟื้นตัวของราคาทองคำในปี 2017 ได้

ปัจจัยบวก

Brexit : นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ จะเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ก่อนสิ้นเดือน มี.ค.2017 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาที่จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี คือ ต้นปี 2019 และหากการเจรจาในปีนี้เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น อาจกลับมาหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้ และถึงแม้การเจรจาจะราบรื่นโดยอังกฤษได้รับเงื่อนไขที่ดีเมื่อออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ก็จะยิ่งกระตุ้นให้อีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเช่นกัน ซึ่งความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจะส่งผลหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป : ในปีนี้จะมีการจัดการเลือกตั้งทั้งในเยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ หากเกิดการพลิกขั้วอำนาจทางการเมืองไปสู่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดก็อาจนำมาซึ่งการจัดทำประชามติขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปทั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ได้

ขณะที่เยอรมนีนั้นต้องจับตาว่า นางอังเกลา แมร์เคิล จะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 ได้หรือไม่ หากแมร์เคิล แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะทำให้อนาคตของสหภาพยุโรปสั่นคลอนอย่างรุนแรงซึ่งจะหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน

ปัจจัยลบที่อาจพลิกกลับมาเป็นปัจจัยบวก : หากในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 3 ครั้ง หรือหากนโยบายอย่างเป็นทางการของนายโดนัล ทรัมป์ สร้างความผิดหวัง และทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง อาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า และหนุนราคาทองคำให้ฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ หากอุปสงค์ทองคำจากทั้ง 2 ตลาดหลักอย่างจีน และอินเดียฟื้นตัวกลับสู่ปริมาณปกติ ก็จะสร้างแรงหนุนและชะลอการปรับตัวลงของราคาทองคำได้เช่นกัน
แนวโน้มทิศทางราคาทองคำในปี 2017

กำลังโหลดความคิดเห็น