xs
xsm
sm
md
lg

ออมสินเผยดัชนีเชื่อมั่น GSI ส่งสัญญาณดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 4 ปี 2559 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ จำนวน 1,532 ตัวอย่าง พบว่า GSI ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ อยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 49.0 โดยประชาชนระดับฐานรากมีความคาดหวังรายได้ในอนาคต จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของประชาชนฐานรากในปีหน้า จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกือบใกล้เคียงกับระดับความเชื่อมั่นปานกลางที่ระดับ 50

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.8 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 52.8 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าในระดับที่ดี เนื่องจากความคาดหวังรายได้ในอนาคตจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาระหนี้สิน และการออมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่วนด้านการจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ ภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก คาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนฐานรากยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าเป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิตของประชาชนฐานราก โดยเมื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของประชาชนฐานราก พบว่า เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 96.5) มีความรู้ความเข้าใจ และเมื่อพิจารณาถึงระดับความรู้ ความเข้าใจ พบว่า ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในระดับ ปานกลาง (ร้อยละ 59.6) โดยเชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต (ร้อยละ 94.7) และได้มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 77.7)

สำหรับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่นิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน พบว่า 3 อันดับ คือ การเก็บออม (ร้อยละ 69.9) การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (ร้อยละ 69.0) และอยู่อย่างเหมาะสมกับฐานะ (ร้อยละ 59.6) ตามลำดับ ทั้งนี้ จะเห็นว่า เรื่องที่ประชาชนระดับฐานรากนำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยส่วนใหญ่ คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินส่วนบุคคลเป็นอันดับต้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น