xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เล็งทบทวนเป้า GDP ปี 60 คาดตลาดเงินยังผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เล็งทบทวนเป้า GDP ปี 60 ช่วงต้นปี รอดูผลมาตรการกระตุ้น ศก. พร้อมมองแนวโน้มตลาดเงินผันผวน ส่วนเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 60 ไว้ที่ 3.3% เท่ากับปีนี้ที่เติบโตได้ 3.3% โดยปัจจัยหนุนมาจากความคาดหวังการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันเสริมจากการส่งออกที่คาดว่า จะไม่ติดลบ และการลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 60 จะเติบโตได้ 3.2% เท่ากับไตรมาส 4/59 ซึ่งมองว่า ในไตรมาส 1/60 ยังมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาส 4/59 เพราะมีปัจจัยลบส่งผลต่อเนื่องมา ได้แก่ การท่องเที่ยวที่เผชิญแรงกกดดันจากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังคงหดตัวอยู่ การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่การบริโภคยังมีการชะลอตัว หลังการจับจ่ายได้มีการใช้ไปล่วงหน้าแล้วในโครงการช้อปช่วยชาติ แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% มีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีการประมูลไปแล้วหลายโครงการ และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ การส่งออก คาดว่าจะกลับมาขยายตัวจากผลของราคาสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวเช่นเดียวกัน

นายเชาว์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 60 ที่ต้องติดตาม ได้แก่ จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเห็นเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และกลุ่มประเทศชั้นนำที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน แม้ว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีขึ้น แต่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนยังคงขยายตัวไม่สูง หลังจากธุรกิจไทยออกไปตั้งฐานการผลิตในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของคู่อาเซียน

“เศรษฐกิจโดยภาพรวมปีหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง และการปรับเพิ่มประมาณการจากผลบวกของงบกลางปี ซึ่งต้องรอประเมินถึงรายละเอียดโครงการ และช่วงเวลาที่เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ชัดเจนอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยฯ ยังมอง GDP อยู่ที่ 3.3% เท่ากับปี 59 แต่มีความเป็นไปได้ที่มีโอกาสทบทวนในช่วงต้นปีหน้า เพราะจะต้องรอดูงบกลางปีที่ตั้งไว้ 1.6 แสนล้านบาท จะใช้ได้มากน้อยเท่าไร และไปกระจายในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจริงหรือไม่ ซึ่งการใช้งบกลางปีจะมีผลต่อ GDP 0.3-0.5%”

ส่วนภาคการเงินในปี 60 ยังคงเป็นปีแห่งความผันผวน โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยยังมีอยู่สูง ซึ่งคาดว่า เฟดจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 1-2 ครั้ง เพราะนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ จะช่วยหนุนเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% เพราะแป็นอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัว

สำหรับส่วนสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ 3.01% จากสิ้นปีนี้ที่ 2.82% โดยกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะมาจากกลุ่ม SMEs ในธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก, วัสดุก่อสร้าง, โรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจด้านการเกษตรบางประเภท ลูกค้าบุคคลรายย่อย และลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว โดยในปีหน้า มองว่าการตั้งสำรองของภาคธนาคารไทยจะยังคงมีการตั้งสำรองในระดับ 160% เท่ากับปีนี้

ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารในปี 60 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากปีนี้ที่ 2.5% โดยสินเชื่อที่จะมีการเติบโตได้ดียังคงเป็นสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มสินบ้าน และเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันยังมีการฟื้นตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีนโยบายเครดิตที่ต้องระมัดระวัง โดยมองว่าหนี้ครัวเรือนจะทรงตัวระดับ 82% เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังผลักดันโดยสินเชื่อเอสเอ็มอี หลังได้รับอานิสงส์จากการอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น และแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

นายเชาว์ กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทไทยในปี 60 โดยคาดว่าจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และ ณ สิ้นปี 60 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากสิ้นปีนี้ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟด จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกในปี 60 ทั้งนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทในปี 60 จะเป็นการอ่อนค่าแบบที่มีความผันผวน โดยแนะนำผู้ประกอบการต่างๆ ให้ระมัดระวังความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/60 เพราะมีปัจจัย และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในช่วงต้นปีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะกระทบกับประเทศใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีการทบทวนทิศทางของค่าเงินบาทหลังการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น