ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย เผยว่า การส่งออกไทยกำลังประสบภาวะตกต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง นักพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าบางรายได้เลื่อนการขยายตัวโลจิสติกส์พาร์ค (logistics parks) แห่งใหม่ของพวกเขาออกไป อุปทานใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในตลาดอาจจำต้องหยุดชะงักไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการครอบครองจะยังคงเสถียรภาพ เนื่องจากอัตราครอบครองพื้นที่สุทธิได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับอุปทานใหม่ ด้านอัตราค่าเช่าถูกคาดการณ์ว่า จะยังคงที่ เนื่องจากระดับที่สมดุลกันระหว่างอุปทานใหม่ และอุปสงค์ใหม่ ซึ่งสร้างความกดดันต่อการแข่งขันด้านราคา และยับยั้งการเพิ่มขึ้นของราคา นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาถนน และระบบขนส่งทางรถไฟ ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการผลักดันการลงทุนจากภาคเอกชน และความต้องการพื้นที่ลอจิสติกส์
นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “พื้นที่ตั้งคลังสินค้าบางแห่งทำผลงานได้ดีกว่าแห่งอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด อุปทานใหม่จำเป็นต้องหยุดชะงักโดยเฉพาะในเขตที่มีอัตราการครอบครองพื้นที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานในการเลือกที่ตั้งการกระจายสินค้าเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญยังคงเหมือนกัน ความต้องการด้านพื้นที่คลังสินค้ายังเติบโต เนื่องจากอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการค้าปลีกในประเทศไทย”
ผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทย ในช่วงปลายครึ่งแรกของปี 2016 อุปทานคลังสินค้ามีจำนวนรวมทั้งหมด 3,732,147 ตร.ม. แสดงการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.1 จากตอนท้ายของช่วงที่ผ่านมา ด้วยจำนวน 145,737 ตร.ม.ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในตลาด จุดสูงสุดล่าสุดของอุปทานที่เพิ่มเข้ามายังคงเป็นผลพวงจากปี 2014 ซึ่งเป็นการเปิดตัวของสามโครงการขนาดใหญ่จากนักพัฒนารายใหญ่ที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่นั้นมา ตลาดเห็นการเพิ่มขึ้นของอุปทานเพียงเล็กน้อย เพื่อรับมือกับการเติบโตอย่างช้าๆ ของอุปสงค์
สำหรับระยะที่เหลือในปี 2016 จนถึงปี 2017 มีอุปทานคลังสินค้าประมาณ 300,000 ตร.ม. ที่คาดว่าจะเพิ่มเข้ามาในตลาด โดยพื้นที่ประมาณ 250,000 ตร.ม. อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการอยู่ในระดับดี และอัตราการครอบครองอยู่ในระดับสูง
พื้นที่ที่ถูกครอบครองในช่วงนี้มีจำนวนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 2,909,594 ตร.ม. ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากช่วงก่อน โดยจำนวนนี้คิดเป็นอัตราการครอบครองพื้นที่อยู่ที่ร้อยละ 78.0 ตามแนวโน้มอัตราการครอบครอง ทั้งอุปทาน และพื้นที่ครอบครองมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยอัตราการครอบครองมีเสถียรภาพอยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.5-78.5
อัตราการดูดซึมสุทธิ (net absorption rate) ที่ 129,982 ตร.ม. ในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราการครอบครองคลังสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 อยู่ที่ร้อยละ 78.0 ไต่ระดับขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากข้อมูลตัวเลขของปีก่อน เขตอีสเทิร์นซีบอร์ด แสดงอัตราการครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุด ในขณะที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (สุวรรณภูมิ-บางปะกง) มีอัตราการครอบครองพื้นที่คลังสินค้ามากที่สุด เขตปทุมธานี-อยุธยา ยังคงเห็นการลดลงของอัตราการครอบครองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากอุทกภัยในปี 2011 บวกกับการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่
อัตราค่าเช่าคลังสินค้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 อัตราค่าเช่าคลังสินค้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 156.9 บาท/ตร.ม./เดือน เขตที่มีการเติบโตจากกลางปี 2015 ถึงกลางปี 2016 สูงสุด ได้แก่ เขตอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ปรับราคาจาก 148.9 บาท ไปที่ 149.6 บาท/ตร.ม./เดือน กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ราคาแพงที่สุด ตามมาด้วยเขตปทุมธานี ที่ตั้งค่าเช่าสูงสุดที่ 185 บาท/ตร.ม./เดือน ในทางตรงกันข้ามจังหวัดขอนแก่น ตั้งราคาค่าเช่าต่ำที่สุดอยู่ที่ 110 บาท/ตร.ม./เดือน
ปัจจุบัน อัตราค่าเช่าในราคาสูงสุดอยู่ที่ 185 บาท/ตร.ม./เดือนในเขตกรุงเทพฯ และปทุมธานี ตามติดมาด้วยอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ 180 บาท/ตร.ม./เดือนในเขตสมุทรปราการ ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยปกติคลังสินค้าจะเป็นตัวกำหนดราคาค่าเช่า โดยมักขึ้นอยู่กับพื้นที่ตั้ง ดีไซน์การออกแบบ สภาพ และอายุของอาคาร โลจิสติกส์พาร์ค ที่ทันสมัยมักจะมีท่าเทียบเรือ พื้นยก พื้นที่โหลดสินค้าที่รับน้ำหนักได้มากถึง 3 ตันต่อ ตร.ม. และเพดานสูง 10 เมตร