xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.จัดโครงการเงินกู้ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัยบ้านเสียหาย และบรรเทาความเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธอส.เตรียมจัดเม็ดเงิน 500 ล้านบาท ทำโครงการเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมลดภาระ ดบ. และให้กู้เพิ่มสำหรับลูกค้าเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ ธนาคารอาคารสงเคราะห์พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยเตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท จัดทำ “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559” โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะลดภาระดอกเบี้ย และเงินงวดผ่อนชำระ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4-12 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี (ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่อาคาร หรือบ้านได้รับความเสียหายสามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับวงเงินให้กู้ต่อรายธนาคารกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559 จะต้องเป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือคู่สมรส และได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ และทำนิติกรรมได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น