กนง.ห่วงผลกระทบ Brexit กดดันเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง ส่งผลให้จีดีพีเติบโตได้ต่ำกว่า 3.1% เตรียมนำข้อมูลเข้าหารือกัน 3 ส.ค.นี้ โดยคณะทำงานของ ธปท.จะการศึกษาผลกระทบหลายสมมติฐาน ทั้งกรณีอังกฤษกับอียูตกลงกันได้เร็วจะกระทบจะน้อยที่สุด แต่หากการเจรจายืดเยื้อจะมีผลกระทบมากขึ้น เพราะขณะนี้การเจรจาของอังกฤษกับอียูยังไม่ได้เริ่ม และคาดว่าจะล่าช้า ทำให้ยังมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า ดังนั้น นักลงทุน และเอกชนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนก่อน
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยยังไม่ได้รวมกรณีผลกระทบจากการที่อังกฤษมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยมีความเสี่ยงจีดีพีโตต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเอเชีย และผลกระทบ Brexit เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญระยะข้างหน้า
โดยผลกระทบที่ตามมาอาจมีทั้งด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งต้องใช้เวลาติดตามดูความคืบหน้าการเจรจาระหว่างอังกฤษ กับสหภาพยุโรป (อียู) โดยคณะทำงานของ ธปท.จะทำการศึกษาผลกระทบหลายสมมติฐาน ทั้งกรณีอังกฤษกับอียูตกลงกันได้เร็วผลกระทบจะน้อยที่สุด แต่หากการเจรจายืดเยื้อจะมีผลกระทบมากขึ้น เพราะขณะนี้การเจรจาของอังกฤษกับอียูยังไม่ได้เริ่ม และคาดว่าจะล่าช้า ทำให้ยังมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า
ดังนั้น นักลงทุน และเอกชนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนก่อน ทำให้จะเห็นผลกระทบต่อภาคการเงินเร็วกว่าภาคการค้า ทั้งนี้ จะนำผลกระทบ Brexit หารือในการประชุม กนง.ครั้งต่อไปวันที่ 3 สิงหาคม 2559
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังต่ำ และความเสี่ยงจากการส่งออกที่มีปัญหาโครงสร้างการผลิต และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การส่งออกติดลบเพิ่มจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 2.5 และส่งผลทำให้มีการปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2560 เหลือโตร้อยละ 3.2 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.3
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากนักท่องเที่ยวรัสเซีย และเยอรมนี จากการขยายเส้นทางการบินของโลว์คอสแอร์ไลน์ การบริโภคในประเทศกระเตื้องขึ้น ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
ขณะเดียวกัน ธปท.พบสัญญาณกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และภาคเกษตรค่อยๆ ฟื้นตัว โดยรายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.7 ผลจากราคายางพาราปรับดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อคนภาคใต้สูงขึ้น และปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าผลผลิตจะกลับมาดีขึ้นระยะข้างหน้า และกำลังซื้อภาคการเกษตรจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่จะเข้ามาช่วยชดเชยปัจจัยลบจากต่างประเทศ และการส่งออก ทำให้ กนง.คงจีดีพีปีนี้ที่ร้อยละ 3.1
ส่วนการส่งออกเดือนพฤษภาคมหดตัวร้อยละ 5.6 หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำ โดยหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลง โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งตลาดอาเซียน และอียู เนื่องจากสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ