“เมืองไทยลิสซิ่ง” ติดอันดับเข้าคำนวณทั้งดัชนี SET50 และ SET100 “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ปลื้ม! เข้าวินทั้ง 2 ป้าย สะท้อนให้เห็นว่า MTLS เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย อยู่ในใจนักลงทุน มั่นใจจากนี้นักลงทุนสถาบัน และกองทุนทั้งใน และต่างประเทศพร้อมเพิ่มน้ำหนักลงทุน ระบุอนาคต 2 ปีข้างหน้าสินเชื่อเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปีตามแผน รายได้ กำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS กล่าวถึงกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่จะใช้คำนวณดัชนี SET50 SET100 และ SETHD ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2559 (1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2559) โดย MTLS ถูกนำเข้าคำนวณทั้งดัชนี SET50 และดัชนี SET100 ว่า สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของ MTLS ที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน และเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสม่ำเสมอ
“ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนที่มีต่อ MTLS ผมในฐานะผู้บริหาร และทีมงานของบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนที่มอบความไว้วางใจเข้าลงทุน ซึ่งในช่วง 2 ปี จากนี้ไป มั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยมีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 450 แห่ง ในปีนี้ และปี 2560 เปิดเพิ่มอีก 400 แห่ง รวมเป็น 1,750 สาขาทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2558 มีสาขา 900 แห่ง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินเชื่อในช่วง 2 ปีนับจากนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปีตามแผน ผลักดันให้รายได้ และกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง” นายชูชาติ กล่าว
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ทั้งหมดที่อยู่ในดัชนี SET50 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 8.61 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ทั้งหมดในดัชนี SET100 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 9.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ MTLS ยังเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Small Cap Indexes มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 285,683 ล้านบาท (ณ 12 พฤษภาคม 2558)
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI หรือ MSCI Indexes เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้ประเมินประสิทธิภาพการลงทุนเช่นกัน