ธปท.ยันทุกแบงก์เตรียมเปิดตัวลงทะเบียน “พร้อมเพย์” บริการโอนเงิน- รับโอน โดยใช้เลขบัตร ปชช. และเบอร์มือถือ ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้ ค่าธรรมเนียมการโอนไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ และเพิ่มแบบขั้นบันได โดยวงเงินที่มากกว่า 100,000 บาท จะคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน 21 แห่ง ร่วมเปิดให้บริการโอนเงิน และรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์-PromptPay” หรือชื่อเดิม คือ “Any ID” เปิดให้ประชาชนใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีธนาคาร 1 เลขหมายต่อ 1 บัญชี โดยผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์ ได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน 1 และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ซึ่งทุกคนสามารถโอนเงินระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องจำเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเปิดให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนผ่าน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย สาขาธนาคารพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงกิ้ง โดยบางธนาคารที่มีความพร้อมเริ่มลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นี้ และจะพร้อมกันทุกธนาคารวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จาก “พร้อมเพย์” อย่างเต็มที่ ด้วยการได้รับเงินโอนระหว่างกันสะดวกมากขึ้น ขณะที่ยังสามารถรับเงินจากรัฐได้โดยตรง ด้วยการผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น เงินสวัสดิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินคืนภาษีของกรมสรรพากร รวมทั้งยังมีความปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด และค่าธรรมเนียมถูกกว่า ซึ่งจะเริ่มโอนเงินระหว่างประชาชนกับประชาชน
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ลงทะเบียนจะเปลี่ยนธนาคารที่ลงทะเบียนไว้สามารถยกเลิกกับธนาคารเดิม และไปลงทะเบียนกับธนาคารใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการ “พร้อมเพย์” ต้องการเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชี หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน
ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทุกธนาคารยืนยันในระบบความปลอดภัยของบริการโอนเงิน “พร้อมเพย์” ทั้งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และระบบการชำระเงิน ขณะที่ค่าธรรมเนียมบริการ “พร้อมเพย์” จะถูกลง โดยการโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ จะฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ ส่วนวงเงินโอนเกิน 5,000-30,000 บาทต่อรายการ คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ วงเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ และวงเงินมากกว่า 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ จากเดิมค่าธรรมเนียมการโอนเงินประมาณ 25-50 บาท โดยการให้บริการ “พร้อมเพย์” จะเริ่มให้บริการรับโอนระหว่างประชาชนเดือนตุลาคม 2559 นี้ จากนั้นจะทยอยสู่บริการอื่นๆ เช่น การจ่ายบิลต่อไป ส่วนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอื่นๆ จะยังคงอัตราเดิมต่อไป เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้บริการ “พร้อมเพย์” ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้บริการ “พร้อมเพย์” ผ่านโมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน ธนาคารบนมือถือได้ โดยผ่าน feature “พร้อมเพย์”
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนะนำให้ประชาชนใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารในการใช้บริการ “พร้อมเพย์” เพื่อรับเงินสวัสดิการรัฐบาล เงินผู้มีรายได้น้อย และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะหากใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และมีหลายเลขหมายอาจจะมีการตกหล่นในการรับเงินจากรัฐบาล
ส่วนความพร้อมของระบบไอที เพื่อรองรับการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง เพิ่มขึ้นนั้น ธนาคารมีความพร้อมเต็มที่ และจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559