xs
xsm
sm
md
lg

พฤกษาเดินหน้าพิชิตเป้าหมายรายได้แสนล้าน ตอกย้ำผู้นำพรีคาสต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เลอศักดิ์ จุลเทศ
การก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ด้วยรายได้ 50,672 ล้านบาท ในปี 2558 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นรายได้สูงสุดทุบสถิติที่ผ่านๆ มา แต่เป้าหมายใหญ่ของ “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ แห่งค่ายพฤกษาใหญ่กว่านั้นมาก นั่นคือ รายได้ 1 แสนล้านบาท ในปี 2563 และติด 1 ใน 10 แบรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทวีปเอเชีย การที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้หากดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในเมืองไทยนั้นถือว่าตลาดเล็กเกินไป เพราะมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยในเมืองไทยมีประมาณ 3.5 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ ดังนั้น พฤกษาจึงต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ผ่านมา “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ได้ทดลองขยายธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ เช่น อินเดีย มัลดีฟส์ พม่า แต่ด้วยความยุ่งยากของข้อกฎหมายการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างของในแต่ละประเทศทำให้ได้ไม่คุ้ม จึงได้ยกเลิกไปเหลือเพียงอินเดียประเทศเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่มาก ทำให้เสี่ยทองมา ต้องกลับมาคิดใหม่ โดยเริ่มจากการว่าจ้างให้บริษัทชื่อดังของโลก “แมคเคนซี่ สมิท” มาวางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการปรับองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการจัดตั้งบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ พฤกษา เรียลเอสเตท จะกลายเป็นบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยของพฤกษา โฮลดิ้ง ซึ่งโฮลดิ้งจะมีหน้าที่ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากพัฒนาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่พฤกษาเล็งไว้ก็คือ โรงพยาบาล ที่คาดว่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้

ล่าสุดพฤกษา เรียลเอสเตท ได้แจ้งยื่นคำขอถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีจำนวน 2,232,682,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวม 2,232,682,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.48 ราคาซื้อขายหุ้นครั้งหลังสุด 25.25 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.59 โดยหุ้นสามัญของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหุ้นสามัญของพฤกษา เรียลเอสเตท ที่จะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน และภายหลังจากที่พฤกษา เรียลเอสเตท และพฤกษา โฮลดิ้ง ได้รับการอนุมัติจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะแจ้งกำหนดการเสนอซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป

อีกเส้นทางสำคัญที่จะทำให้พฤกษาฯ ขึ้นเป็นผู้นำบริษัทอสังหาฯ เบอร์ต้นๆ ของเอเชีย นั่นคือ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย “ทองมา” ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2536 ก็ว่าได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Load bearing wall structure (Tunnel Form) เป็นระบบโครงสร้างที่เทคอนกรีตผนังรับน้ำหนัก และพื้นพร้อมกัน โดยใช้ไม้แบบ Tunnel โดยการวางเรียงไม้แบบต่อกัน ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นระบบก่อสร้างที่รวดเร็ว

แต่พฤกษาไม่ได้หยุดแค่นั้น ได้นำระบบก่อสร้างสำเร็จรูป หรือ พรีคาสต์ (Precast) เข้ามาใช้ ด้วยการซื้อโนว์ฮาวจากบริษัท EBAWE Anlagentechnih GmBh จากประเทศเยอรมนี ซึ่งถือเป็นผู้นำเทคโนโลยีก่อสร้างเบอร์ต้นๆ ของโลก และก่อตั้งโรงงานพฤกษา พรีคาสท์ แห่งแรกในปี 2547 และได้พัฒนาเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2551 ใช้ระบบก่อสร้าง Fully Precast ในคอนโดมิเนียมแบบ Low Rise เป็นครั้งแรกในปี 2552 ในระบบ Fully Precast ในคอนโดฯ แนวสูงโครงการ The seed Mingle โครงการแรก ในปี 2555 ได้นำเทคโนโลยี Pruksa REM มาใช้ในการก่อสร้างบ้าน ซึ่งเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรม โดยจะแบ่งการก่อสร้างเป็นลำดับขั้นตอนโดยใช้ช่างผู้ชำนาญการในงานแต่ละประเภท สามารถควบคุมคุณภาพในแต่ละขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2558 ใช้เทคโนโลยีการออกแบบ 3 มิติ “BIM” (Building Information Modeling) ที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการออกแบบด้วยนวัตกรรมต่างๆ ที่พฤกษาสร้างสรรค์ขึ้นนี้ ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่า จะได้รับบ้านที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน พฤกษาใช้ BIM ในการก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการใช้วิธีการบริหารโครงการแบบ PMC (Project Management Control) เพื่อให้การก่อสร้างมีคุณภาพ และเสร็จสิ้นตามแผนงานภายในงบประมาณที่วางไว้
กระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัต
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยนโยบาย “คิด…สร้างสรรค์คุณค่าเพื่อลูกค้า” บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยได้ลงทุนก่อสร้าง โรงงานพฤกษา พรีคาสท์ (Pruksa Precast Concrete Factory) เพื่อผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปมาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547 โดยถือเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีพรีคาสต์มาใช้ เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพได้ทุกขั้นตอน สามารถควบคุมระยะเวลาการก่อสร้าง ลดการใช้แรงงาน ลดการสูญเสียวัสดุ และลดขยะการก่อสร้างที่หน้างาน

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงงานพฤกษา พรีคาสท์ ทั้งหมด 7 โรงงาน รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตบ้านรวมสูงถึง 1,120 ยูนิตต่อเดือน หรือคิดเป็นกำลังการผลิต 6.5 ล้าน ตร.ม.ต่อปี และในปีหน้าพฤกษามีแผนจะขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8 ล้าน ตร.ม.ต่อปี โดยบริษัทฯ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศเยอรมนี อีกทั้งยังเป็น Green Factory แห่งแรกของประเทศไทยด้วยการนำระบบ Concrete Recycling มาใช้ โดยนำน้ำทิ้ง และเศษคอนกรีตจากการทำงานกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง

ทั้งนี้ บ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบพฤกษา พรีคาสท์ มีข้อดีหลายประการเมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านความแข็งแรงทนทาน สามารถต้านทานแรงลม และแรงแผ่นดินไหว เก็บเสียงได้ดีกว่า และเนื่องจากใช้ผนังรับน้ำหนักจึงไม่มีเสา-คาน ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และสามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ลงตัวยิ่งขึ้น
ผลิตผนังสำเร็จรูป
นายเลอศักดิ์ กล่าวต่อว่า บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักขององค์กร โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ร่วมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่พฤกษาได้นำนวัตกรรมพฤกษา พรีคาสท์ มาใช้ในการก่อสร้างบ้าน และได้มีการค้นคว้าวิจัย และพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บุคลากรของพฤกษามีความรู้ และความเชี่ยวชาญที่ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเราก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ

นอกจากพฤกษา พรีคาสท์ แล้ว ยังมีการนำนวัตกรรมการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรมคุณภาพ Pruksa REM เป็นการนำแนวคิดกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่แบ่งสายการผลิตไปยังทีมงานแต่ละจุดมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการก่อสร้างบ้าน โดยใช้ช่างที่ได้รับการฝึกฝนทักษะงานแต่ละประเภท จนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเคลื่อนไปยังบ้านแต่ละหลังตามแผนก่อสร้างที่เป็นลำดับขั้นตอน โดยการก่อสร้างบ้านแต่ละหลังจะมีรายละเอียดงานมากถึง 300 ประเภทงาน เคลื่อนไปตามจุดต่างๆ ของบ้านตามลำดับขั้นตอน เริ่มตั้งแต่งานตอกเข็ม งานฐานราก งานเดินท่อประปาใต้พื้น และรอบบ้าน งานติดตั้งแผ่นพฤกษา พรีคาสท์ งานโครงหลังคา งานประตูหน้าต่าง งานติดตั้งบันไดสำเร็จรูป งานพื้นลามิเนต งานอุปกรณ์ไฟฟ้า งานสุขภัณฑ์ งานสี และสิ้นสุดการทำงานด้วยการทำความสะอาดบ้านเพื่อรอส่งมอบให้ลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ การสร้างบ้านโดยใช้แรงงาน และผู้คุมงานแบบเดิมจะอาศัยทักษะการบริหาร และสั่งงานคนงานด้วยความจำ จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้งานครบสมบูรณ์ในทุกกระบวนการ

จากจุดเริ่มต้นการนำพรีคาสต์มาใช้ในสร้างบ้านในปี 2547 วันนี้ พฤกษามีการนำเทคโนโลยีการออกแบบ 3 มิติ BIM : Building Information Modeling เป็นนวัตกรรมการออกแบบใหม่ที่เป็น 3 มิติ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศมาใช้ในการออกแบบบ้าน ทำให้เห็นความเสมือนจริง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบ ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในการทำงาน ไม่เพียงทำให้บ้านมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งยังช่วยในการประมาณการปริมาณวัสดุได้แบบครบวงจร จะมีประโยชน์ในด้านการวางแผนก่อสร้าง ช่วยวิเคราะห์ และประเมินการใช้พลังงานในตัวอาคาร ลดการทำงานหลายขั้นตอนให้เป็นการคำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า การจะก้าวเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจลูกค้าไม่เพียงแค่การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการก่อสร้าง แต่พฤกษายังมีการพัฒนา “ครีเอต แวลู” เชิงโปรดักต์ โดยพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ 4 เมกะเทรนด์โลก ได้แก่ ความปลอดภัย หมายถึงบ้านที่แข็งแรง ออกแบบให้สามารถรับแผ่นดินไหวได้ การพัฒนาบ้านเพื่อผู้สูงอายุ รองรับการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดการณ์ปี 2568 ผู้สูงอายุมีสัดส่วน 21% ของประชากรทั้งหมด บ้านประหยัดพลังงาน และบ้านสมาร์ท โฮม บ้านที่เพิ่มความสะดวกสบายด้วยเทคโนโลยี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการบ้านประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงาน Pruksa Plus House ซึ่งเป็นบ้านต้นแบบที่โครงการ เดอะแพลนท์ เอสทีค พัฒนาการ สามารถสร้างพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เอง โดยเริ่มทดลองติดตั้งฉนวนกันความร้อน ระแนงไม้รอบบ้าน แผง Solar Cell และ Ice Storage เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของพฤกษาต่อไปในอนาคต ซึ่งแบบบ้านดังกล่าวคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

“ปฏิเสธไม้ได้ว่า บ้านมีนวัตกรรมย่อมมีต้นทุนที่สูงขึ้น และคงต้องใช้เวลาในการทำตลาด ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จจะต้องมีการทดสอบ และวิจัยผู้บริโภค ส่วนไหนที่เหมาะต่อพฤติกรรมลูกค้าคนไทย เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่เราได้นำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานมาจากเยอรมนี แต่พยายามพัฒนาให้ครอบคลุมทุกเรื่องใน 4 เทรนด์ ผู้สูงอายุ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เพราะนโยบายของคุณทองมา คือ ราคาบ้านแข่งขันได้ แต่การผลิตบ้านคุณภาพที่เหนือกว่าถึงจะชนะ คือ การเพิ่มมูลค่าลงไปในโปรดักต์บ้านให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นบ้านที่ออกมาก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรแตกต่างจากคู่แข่งขัน” นายเลอศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น