xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ส่งสัญญาณรับมือค่าบาทผันผวน คาดทิศทางอาจเกิดในทางแข็งค่าหรืออ่อนค่าก็ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.เตือนภาคเอกชนอย่าชะล่าใจความผันผวนในตลาดเงิน พร้อมมองว่า ค่าบาทยังมีโอกาสผันผวนได้ทั้งอ่อน และแข็งค่าบางช่วงเวลา พร้อมส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงิน โดยยึดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบยืดหยุ่น ย้ำชัดยังไม่ได้เผชิญต่อแรงกดดันมากนัก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนยังสูง จึงอยากส่งสัญญาณเตือนผู้ประกอบการอย่าชะล่าใจ เพราะความผันผวนของค่าเงินบาทอาจเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ด้านในบางช่วงเวลา พร้อมทั้งยืนยันการใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในการดูแลภาวะเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพในประเทศยังมีความเหมาะสม

“ขณะนี้อัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะยังมีความผ่อนคลาย รวมถึง ธปท.ยังให้ความสำคัญต่อเสภียรภาพการเงินในระยะยาว”

สำหรับนโยบายการเงินในขณะนี้ ธปท.ยังยึดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบยืดหยุ่น ซึ่งยังไม่ได้เผชิญต่อแรงกดดันมากนัก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ ธปท.กำหนดไว้ในระดับเฉลี่ย 2.5% ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่ก็ไม่ได้สร้างกดดัน เพราะมองว่ายังอยู่ในกรอบที่เหมาะสม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5%

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กังวลว่า อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าอาจจะไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบางช่วงนั้น ธปท.จะไม่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อให้มากำหนดความสามารถในการแข่งขัน และยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศหากต่ำนานๆ เกินไปก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนำไปสู่การเก็งกำไร หรือเกิดปัญหาฟองสบู่ในบางภาคธุรกิจได้

ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเหตุการณ์นอกประเทศที่ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนในประเทศ ทำให้สัญญาณบางอย่างแผ่วลง แต่ก็ยังมีตัวส่งเสริมเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น แม้ที่ผ่านมา ภัยแล้งจะมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่ในมุมมองของ กนง.ยังเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะอยู่ในสภาพไม่กระจายตัว

ส่วนกรณี ธปท.จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้หรือไม่นั้น นายวิรไท กล่าวว่า คงต้องรอการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจากทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ก่อนที่จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/59 ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น