ก.ล.ต.อนุมัติ “เจตาแบค” ขายหุ้น IPO จำนวน 240 ล้านหุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เดือนมีนาคม APM ที่ปรึกษาเชื่อมั่นศักยภาพในการดำเนินงานยาวนานกว่า 32 ปี ควง บล.ฟินันเซีย ไซรัส แกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้นปิดท้ายโรดโชว์กรุงเทพฯ 2 มี.ค. ผู้บริหารชี้เงินระดมทุนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เร่งโอกาสในการเติบโตได้มากขึ้น และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอสเซท โปร แมเนจท์เม้นท์ จำกัด “APM” ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัท เจตาแบค จำกัด (มหาชน) “GTB” ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.เจตาแบค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดช่วงเวลาการเสนอขายหุ้น IPO กลางเดือนมีนาคม และกำหนดวันเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 2559 บริษัทจะนำเสนอข้อมูลหลักทรัพย์แก่นักลงทุนกรุงเทพมหานคร ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นจังหวัดสุดท้ายจากทั้งหมด 10 จังหวัดตามแผนของบริษัท
ทั้งนี้ บมจ.เจตาแบค ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 240,000,000 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนที่ออก และเรียกชำระแล้ว จำนวน 240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.25 บาท บมจ.เจตาแบค ถือเป็นผู้นำด้านการผลิต และจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำ (Steam Boiler) ระบบเผาไหม้ (Combustion Engineering) งานวิศวกรรมพลังงานความร้อน (Thermal Energy Engineering) อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และงานบริการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไอน้ำที่มีมาตรฐาน และได้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ปากีสถาน บังกลาเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งหมดประมาณ 500 รายทั่วโลก
ขณะเดียวกัน บริษัทยังผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำให้แก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำที่มีชื่อเสียงในประเทศเยอรมนี เบลเยียม และญี่ปุ่น ในแบบ OEM และยังเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ จากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพ และความโดดเด่นในตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกด้วย
สำหรับสินค้าของ GTB ที่ผลิต และจำหน่ายสามารถใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยาและเคมี อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่น อุตสาหกรรมโรงแรมและโรงพยาบาล รวมไปถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีมวิศวกร และช่างผู้ชำนาญงานโดยเฉพาะที่พร้อมจะบริการการซ่อมบำรุงแบบครบวงจร
“จากที่ ก.ล.ต.ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน GTB เรียบร้อยแล้ว APM จะร่วม GTB และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กำหนดเสนอขายหุ้น IPO ช่วงกลางเดือนมีนาคม และเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในเดือนมีนาคม โดยจากการโรดโชว์ไปแล้ว 8 จังหวัด นักลงทุนให้ความสนใจจำนวนมาก ด้วยการเห็นถึงศักยภาพในการเติบโต ประกอบกับเชื่อมั่นในประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร และทีมงานที่มีมายาวนานกว่า 32 ปี ทำให้มั่นใจว่าเมื่อนำหุ้น IPO ของ GTB ออกเสนอขายจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยยังเหลือโรดโชว์ที่หาดใหญ่ วันที่ 11 ก.พ. และกรุงเทพฯ วันที่ 2 มี.ค. เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสุชาติ มงคลอารีย์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจตาแบค หรือ GTB ผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำ (Steam Boiler) ระบบเผาไหม้ (Combustion Engineering) งานวิศวกรรมพลังงานความร้อน (Thermal Energy Engineering) อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และงานบริการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไอน้ำ กล่าวว่า บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่จากการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น และช่วยให้บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อต่อยอดโอกาสจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศในแถบ AEC ประเทศจีน และเอเชียใต้ ที่ยังมีความต้องการจำนวนมากแล้ว และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการขยายโอกาสในอนาคตรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศในระยะยาว ตอกย้ำความเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำชั้นนำของประเทศ
“การที่บริษัทสามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และส่งเสริมให้บริษัทมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลง จากที่สามารถขยายกำลังการผลิตตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างมีศักยภาพตามเป้าหมาย และช่วยให้สามารถแข่งขันในต่างประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง” นายสุชาติ กล่าว
สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลการดำเนินงานเติบโตตามแผนงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 962.29 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% ขณะที่ในปี 2559 บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน (AEC) เช่น ประเทศพม่า ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศปากีสถาน ประเทศบังกลาเทศ ที่บริษัทได้วางแผนขยายโอกาส และการเติบโตไว้