ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้ารอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แถลงการณ์หลังการประชุมมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Fund Rate) จากเดิม 0-0.25% เป็น 0.25-0.50% เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าไปยังเป้าหมายที่ 2.0% และในปี 2015 ตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ภาวะการซื้อขายในตลาดทองคำหลังการประชุมเฟดเสร็จสิ้นผันผวนอย่างมาก และได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ
ความผันผวนที่เกิดขึ้นยังคงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่กังขาว่าในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ปี 2016 นั้น ราคาทองจะปรับตัวไปในทิศทางใดหลังเฟดตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี โดยวาณิชธนกิจหลายรายต่างคาดการณ์ว่า ปี 2016 จะเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่งสำหรับทอง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ แต่หากย้อนไปดูข้อมูลในอดีตจะพบว่า ในระยะ 45 ปีที่ผ่านมา เฟดมีการเริ่มต้นวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 8 ครั้ง
ในช่วงระยะเวลาหลังเฟดเริ่มวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 เดือน ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 ครั้งจากรอบวัฏจักรขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทั้งหมด 8 ครั้ง
ในช่วงระยะเวลาหลังเฟดเริ่มวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 เดือน ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 ครั้งจากรอบวัฏจักรขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทั้งหมด 8 ครั้ง
แม้ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการทะยานขึ้นของราคาทองในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่วนใหญ่ แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาทองทะยานขึ้นในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอดีต ก็คือ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากการพุ่งขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ในขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีแนวโน้มขาลง โดยราคาน้ำมันดิ่งลงกว่า 60% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2557 ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ดังนั้น นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภาวะราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟด และค่าเงินบาท เป็นต้น
เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในปีหน้าพร้อมทั้งปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมอยู่เสมอ โดยสามารถอัปเดตข้อมูลข่าวสารได้จาก www.ylgfutures.co.th