แบงก์ชาติคาดช่วงปีใหม่นี้มีความต้องการใช้เงิน 1.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5% มั่นใจเตรียมสำรองธนบัตรเพียงพอ ด้านแบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทยเตรียมสำรองเงิน 6 หมื่นล้าน และ 3.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำหนดแผนดูแลการเติมเงินสดในตู้เอทีเอ็มเป็นพิเศษในจุดท่องเที่ยวหลัก
นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ซึ่งประชาชนจะมีความต้องการใช้ธนบัตรในระดับสูงกว่าช่วงปกตินั้น ทาง ธปท.ได้ประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท.ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเทศกาลปีใหม่นี้ เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.5% ทั้งนี้ ธปท.ได้เตรียมเงินสำรองธนบัตรชนิดราคาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการไว้อย่างเพียงพอ
ขณะที่รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2558-3 มกราคม 2559 นั้น ทางธนาคารได้ดำเนินการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพผ่านสาขาไมโคร ที่เปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า และจุดชุมชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ได้ตามปกติในช่วงดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ สาขาธนาคารทั่วประเทศจะเปิดทำการปกติตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ทางธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการเพิ่มความถี่ในการเติมเงินสดยังตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะฉะนั้นลูกค้าของธนาคารจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจ
ด้านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)แจ้งว่า ธนาคารเตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขา และเครื่องเอทีเอ็มเพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงหยุดยาวปีใหม่ รวมทั้งสิ้น 32,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ราว 14,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 4,500 ล้านบาท เป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5,200 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาค จำนวน 7,800 ล้านบาท
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,300 เครื่องทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 19,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 7,000 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาค จำนวน 12,000 ล้านบาท