ธปท. ประเมินผลกระทบ IMF เพิ่มเงินหยวนเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลก ซึ่งจะประกอบเป็น SDR ในเดือน ต.ค.59 คาดไทยได้ประโยชน์ทางการค้า และการลงทุนมากขึ้น ส่วนผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินของโลกนั้น มองว่าอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้านอดีตขุนคลัง ชี้ บทบาทเงินหยวนในตะกร้าเงิน SDR มีน้ำหนักสูงกว่าเงินเยนและยูโร
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรื่อง การเพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลกที่จะประกอบขึ้นมาเป็น SDR (Special Drawing Rights) ตั้งแต่เดือน ต.ค.59 เป็นการยืนยันบทบาทของจีน และของเงินหยวนในเวทีการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ส่วนผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินของโลกนั้น มองว่าอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจมีการปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ตามสกุล SDR แต่คาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขณะเดียวกัน หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้า และการลงทุน จากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป
“มองว่าจากนี้ต่อไป ความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุน จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวกคล่องตัวที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีน ตามลำดับ และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ”
นายเมธี กล่าวว่า ในส่วนของ ธปท. ได้เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 53 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ธปท.ได้ทำข้อตกลง BSA (Bilateral Swap Arrangement) กับจีนในวงเงิน 70 พันล้านหยวน หรือเทียบเท่าประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนหากเป็นที่ต้องการของระบบการเงินไทย
ซึ่งในส่วนของทางการจีน ได้แต่งตั้งธนาคาร ICBC (Industrial and Commercial Bank of China (Thai)) เป็นธนาคารเพื่อการชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบริหารสภาพคล่องเงินหยวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านนายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ค่าเงินบาทผูกกับเงินจีนเป็นหลัก ถ้าจีนเข้าไปมีบทบาทในตะกร้าเงิน SDR ก็จะมีผลโดยทางอ้อมว่าเงินจีนจะแข็งค่าขึ้นแค่ไหน ถ้าเงินจีนแข็งค่าขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินในเอเชีย รวมถึงเงินบาทก็จะดีขึ้น
ดังนั้น การที่จีนเข้าไปมีบบทบาทในตะกร้าเงิน ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เพราะจีนมีความพร้อมมากในการเป็นเงินสกุลหลักของโลก จีนพยายามกำหนดค่าเงินโดยใช้นโยบายไม่ลอยตัวมากค่อยๆ ปล่อยให้ลอยตัว ทำให้ขณะนี้ นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ก็มีจีนเข้ามาทำให้เอเชียมีบทบาทมากขึ้น และน้ำหนักของเงินจีนสูงกว่าน้ำหนักของเงินเยนในตะกร้าเงิน SDR และยูโรด้วย