บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปี 2558 รวม 460,242 ล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี บจ. บริหารต้นทุนได้ดีมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเป็น 22% ขณะที่ บจ.ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.29 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2558
นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บจ. ใน SET จำนวน 521 บริษัท หรือ 94% จากทั้งหมด 553 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2558 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 มียอดขายรวมเท่ากับ 7,633,173 ล้านบาท ลดลง 10% และมีกำไรสุทธิ 460,242 ล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนบริษัทที่ส่งงบการเงินทั้งหมดมี 416 บริษัท ที่มีกำไรสุทธิ คิดเป็น 80% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด
สำหรับงวดไตรมาส 3/2558 บจ.มียอดขาย 2,530,400 ล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงเพียง 2% จากไตรมาส 2/2558 โดยมีกำไรสุทธิ 27,041 ล้านบาท ลดลง 87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า และหากพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3/2558 บจ.ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio) (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.29 เท่า
ทั้งนี้ บจ.มีความสามารถในการบริหารต้นทุนได้ดีในงวด 9 เดือนปี 2558 และงวดไตรมาส 3/2558 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
“ผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2558 ได้รับผลกระทบจากยอดขาย และกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2558 ที่ปรับลดลงแรงจากรายการพิเศษของกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจเหล็กปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาเหล็ก ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่ผลการดำเนินงานปกติอ่อนตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ หากไม่รวมหมวดธุรกิจดังกล่าว ผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2558 ของ บจ.จะมียอดขายโตเพิ่มขึ้น 1% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันในปีก่อนจากการบริหารต้นทุนได้ดี” นายสันติ กล่าว
สำหรับหมวดธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นในงวด 9 เดือน และในไตรมาส 3/2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ทั้งด้านยอดขาย และกำไรสุทธิ มี 4 หมวดธุรกิจ คือ หมวดพาณิชย์ หมวดการแพทย์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเกี่ยวข้องต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ รวมถึงหมวดยานยนต์ซึ่งฟื้นตัวจากการส่งออก