xs
xsm
sm
md
lg

แสนสิริยุบ 23 แบรนด์-ปรับโครงสร้างบริหารหวังทำกำไรเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุทัย อุทัยแสงสุข
“แสนสิริ” ฟุ้ง “Engineer for Growth” หนุนอัตราทำกำไรเพิ่ม 1% พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างทีมบริหารลด การทำงานซ้ำซ้อน ยุบ 23 แบรนด์ ลดค่าการตลาดจาก 3% เหลือ 2% ของยอดขาย พร้อมเผยแผนไตรมาส 4 เปิด 10 โครงการแนวราบ-คอนโดฯ มูลค่า 2.1 หมื่นล้าน ตั้งเป้ายอดขาย หวังมาตรการอสังหารัฐ ดันยอดรับรู้เพิ่มอีก 2 พันล้าน

นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ในปีนี้เชื่อว่าจะมีกำไรใกล้เคียงกับปีก่อนอยู่ที่ 3,390 ล้านบาท เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนการขาย และการบริหารภายใต้แผนงาน “Engineer for Growth” หรือ EFG ทำให้สามารถสร้างอัตราการเติบโตของกำไรได้อย่างน้อย 1% อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทเร่งระบายสต๊อกสร้างเสร็จ โดยคอนโดมิเนียมมีอยู่จำนวน 6,000 ล้านบาท ด้วยการจัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขายต่างๆ มีผลกดดันกำไรขั้นต้นของบริษัทในปีนี้ด้วยเช่นกัน พิจารณาได้จากอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งปีแรกลดลงมาอยู่ที่ 28.27% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 57 อยู่ที่ 32.36% ส่งผลให้กำไรของบริษัทจะทำได้แค่ใกล้เคียงกับปีก่อน

นอกจากนี้ ตามแผนงาน EFG ได้มีการปรับโครงการการบริหารงานใหม่ จากเดิมที่การบริหารจะแบ่งตามแบรนด์สินค้า ทำให้เกิดการทับซ้อนของการทำงาน เช่น ในโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าหลายแบรนด์อยู่ภายในทำเลเดียวกัน ผู้บริหารรวมถึงเจ้าหน้าที่ของแต่ละแบรนด์ก็จะต้องเข้าไปทำงานในไซต์งานเดียวกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงได้แบ่งการบริหารงานเป็นโซน โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะแบ่งเป็น 6 โซน ซึ่งในแต่ละโซนจะบริหารจัดการทุกโครงการที่พัฒนาในโซนนั้นๆ

นอกจากการปรับโครงสร้างการบริหารงานแล้ว บริษัทยังได้ลดแบรนด์สินค้าลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด จากเดิมที่บริษัทพัฒนาสินค้าภายใต้ 36 แบรนด์ทั้งบ้านเดียว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการทำการตลาดทุกแบรนด์ ดังนั้น จึงได้ปรับลดแบรนด์สินค้าลงเหลือเพียง 13 แบรนด์ ได้แก่ บ้านเดี่ยวจากเดิมมี 7 แบรนด์ลดเหลือ 5 แบรนด์ ได้แก่ บ้านแสนสิริ ราคาเริ่มต้น 30 ล้านบาท นาราสิริ ราคาเริ่มต้น 15 ล้านบาท เศรษฐสิริ และบุราสิริ ราคาเริ่มต้น10 ล้านบาท สราญสิริ เริ่มต้น 5 ล้านบาท และคณาสิริ เริ่มต้น 3 ล้านบาท

ทาวน์เฮาส์ 5 แบรนด์ เหลือ 4 แบรนด์ ได้แก่ เรสซิเดนท์, ฮาบิทาวน์, ทาวน์ อเวนิวและ เมท ทาวน์ และคอนโดฯ 24 แบรนด์ลดเหลือ 4 แบรนด์ ได้แก่ เดอะเบส, ดีคอนโด, โมโนเมนท์เดอะไลน์ และอาจมีเพิ่มเติมหากเป็นโครงการลักซ์ชัวรี่ที่จะต้องมีชื่อเฉพาะในแต่ละโครงการ

ทั้งนี้ แผนงาน EFG บริษัทได้ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว เน้นการสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลดแบรนด์และปรับโครงสร้างทำงาน ทำให้ให้บริษัทลดค่าใช้ค่าใจด้านการตลาด และการดำเนินงานไปอย่างมาก ปัจจุบัน บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายการตลาดจากเดิมใช้ปีละ 3% ของยอดขาย เหลือเพียง 2% จึงคาดว่าในสิ้นปีนี้ บริษัทจะมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 12% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้

วอนรัฐเร่งอกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ หวั่นลูกค้าชะลอโอน
นายอุทัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะมีนโยบายออกมาตรการเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะในอดีตรัฐบาลก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯ ในหลายรูปแบบ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศเชิงบวกในการซื้อ-ขายมากขึ้น และกระตุ้นตลาดโดยรวมให้กลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

“ในสถานการณ์ตลาดชะลอแบบนี้ ต้องใช้แรงผลักมากๆ มาตรการที่ออกมารัฐต้องมองทุกเซกเมนต์ เพราะลูกค้าตลาดล่างไม่มีกำลังซื้อที่กลับมาได้เร็ว แต่ลูกค้าระดับกลาง-บนมีความพร้อมที่จะซื้ออยู่แล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ในทิศทางที่ดี ซึ่งภาครัฐต้องเร่งออกนโยบาย และมาตรกระตุ้นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษี ซึ่งจะสามารถช่วยลดภาระของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง แต่มาตรการควรมีความชัดเจน และประกาศใช้ให้เร็ว เพราะมีผลกระทบทำให้ผู้บริโภคชะลอซื้อและโอน ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบบ้างแล้วในส่วนคอนโดฯ แต่ไม่ถึง 10% หรือมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยว ไม่ค่อยมีผล เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเงินสด” นายอุทัย กล่าว
เมธา อังวัฒนาพานิช
ไตรมาส 4 ลุยเปิด 10 โครงการ มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท
ด้านนายเมธา อังวัฒนาพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริฯ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 นี้ บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ จำนวน 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 21,200 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่ารวม 13,500 ล้านบาท และแนวราบ 5 โครงการ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ในปีนี้บริษัทได้ปรับเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท ส่วนยอดรับรู้รายได้ตั้งเป้าไว้ที่ 35,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าหากมาตรการอสังหาฯ ออกมาในเร็วๆ นี้จะเพิ่มรับรู้รายได้อีก 1,000-2,000 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนมียอดขายแล้วกว่า 20,500 ล้านบาท รวมทั้งมีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 12,500 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การขายโครงการแนวราบของบริษัทในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นการขายบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ จากเดิมที่ขายบ้านก่อนสร้างเสร็จ 6-8 เดือน ซึ่งการปรับเปลี่ยนแผนการก่อสร้างนี้ส่งผลให้บริษัทมีการรับรู้รายได้จากการโอนเข้ามาได้เร็วมากขึ้น และทำให้ต้นทุนการขายลดลง ซึ่งโครงการแนวราบในปัจจุบันมีบ้านสร้างเสร็จประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

“ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไนช่วงที่เหลือของปีนี้มองว่า ความมั่นใจของประชาชนเริ่มเห็นสัญญาการฟื้นตัวขึ้น และส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มองว่ามาตรการของรัฐจะเป็นผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมากทั้งในแง่ของผู้ซื้อ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และส่งผลให้การขายโครงการมีการกระเตื้องมากขึ้น แม้ว่าอาจจะมีจังหวะการชะลอการซื้อในช่วงรอการประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม” นายเมธา กล่าว

ส่วนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทในปัจจุบันได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 10% จากในช่วงครึ่งปีแรกที่อยู่ในช่วง 10-15% เพราะบริษัทได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตรในการร่วมทำโปรโมชันให้แก่ลูกค้าในเรื่องการขอกู้สินเชื่อ เช่น การทำโปรโมชันเกี่ยวกับการลดราคาขายมาเล็กน้อย ทำให้จำนวนเงินในการขอสินเชื่อลดลง และเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับการทำ Pre-Approve สินเชื่อก่อนการโอนจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ซึ่งช่วยทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทลดลงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น