“ประสาร” เผยเขียน “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” พร้อมมั่นใจ “วิรไท” จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี ยอมรับตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าชีวิตมีความหมายขึ้น เหมือนกลับสู่สมรภูมิรบอีกครั้ง รู้สึกท้าทาย มีชีวิตชีวา และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายขึ้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Governors Talk โดยระบุว่า ตนเองได้เขียน “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ก่อนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งเดือนกันยายน 2558 นี้ พร้อมระบุถึง นายวิรไท สันติประภพ ที่จะมารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไป ถือเป็นคนหนุ่มไฟแรงจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี ด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน และการพัฒนาประเทศ เชื่อว่า นายวิรไท จะสามารถทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ได้อย่างดี
นายประสาร ระบุว่า สาเหตุที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำงานตรงนี้ต้องการทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่อดีต โดยเวลานั้นอายุ 58 ปีแล้ว จึงปรึกษากับครอบครัวว่า หากได้เป็นผู้ว่าการก็จะได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และอยากใช้เวลาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ถ้าไม่ได้เป็นก็คงอยู่อย่างชีวิตสงบ
“ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เหมือนกลับสู่สมรภูมิรบอีกครั้ง รู้สึกท้าทาย แต่มีชีวิตชีวา และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายขึ้น” นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญต่อความท้าทาย และปัญหาที่รุมเร้าหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทำให้การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแรง
สำหรับภารกิจธนาคารกลางรักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนาภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่ท้าทาย ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามทำหน้าที่นายธนาคารกลางที่ดี แก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองอย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ
ทั้งนี้ อาจารย์ฯ เคยพูดถึงศาสตร์ของการเป็นผู้ว่าการ ธปท. โดยระบุว่า ศาสตร์ หรือวิทยาการแห่งนโยบาย คือ เป้าหมายการดำเนินนโยบายในความรับผิดชอบของธนาคารกลางนั้น มี 2 เรื่อง 1.การส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้โดยดี และ 2.การรักษาเสถียรภาพการเงินให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ส่วนนี้ คือ เป้าหมายการทำงานของ ธปท. และของตนเองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา