ธ.กสิกรฯ เผยมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยเติบโตก้าวกระโดดกว่า 20% มีผู้ประกอบการกว่า 5 แสนราย ยอดผู้ซื้อผ่านระบบออนไลน์กว่า 14.87 ล้านคน พร้อมหนุนผู้ประกอบการไทยโดดลุยตลาด
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียล มีเดีย เว็บไซต์ และออนไลน์ มาร์เกต เพลส ประมาณ 500,000 ราย และมีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 14.87 ล้านคน คาดการณ์ว่าปี 2558 มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของการซื้อขายตรงไปยังผู้บริโภคจะมีสูงถึง 220,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ส่งต่อการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาอย่างมาก
นายปกรณ์ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้นำดิจิตอลแบงกิ้ง เห็นความสำคัญของผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นเหมือนฟันเฟืองในระบบอี-คอมเมิร์ซที่ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนให้เติบโตอย่างมั่นคง จึงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งระดับประเทศ และระดับโลก ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในตลาดอี-คอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มต่างๆ และเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือที่ริเริ่มไว้กับอาลีบาบา ดอทคอม ในปีที่ผ่านมา ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดอี-คอมเมิรซ์ในจีน อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับอะลีเพย์ และคิงพาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นนอล เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเลือกซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีล่วงหน้าได้
และเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคารได้ร่วมกับพันธมิตรจัดงานสัมมนา “รุกธุรกิจไร้พรมแดนบน Digital Platform กับ KBank” ให้เห็นภาพระบบนิเวศทางอี-คอมเมิร์ซ หรือ e-Commerce Ecosystem ที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นทุกมิติจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การทำการตลาด การขาย และการจัดส่งสินค้า ตลอดจนการบริหารเงินทุนหมุนเวียนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ตอบรับกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่ทั้งผู้ประกอบการ และมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับงานสัมมนา “รุกธุรกิจไร้พรมแดนบน Digital Platform กับ KBank” เป็นการเสวนาจากผู้แทนจากอาลีบาบา ดอทคอม ที่ให้รายละเอียดภาพรวม และแนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับโลก และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย รากูเต็น ตลาดดอทคอม (Rakuten talad.com), แกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi), ไทย เอ้า ฉี ฟรุ๊ตส์ (Thai Ao Chi) และกลุ่มธุรกิจสนับสนุน ได้แก่ เรดดี้แพลนเน็ต (Ready Planet), ชิปยัวส์ ดอทคอม (Ship Yours), ยูไนเต็ดไทยโลจิสติกส์ (United Thai Logistic), เฟซบุ๊ก (Facebook) และกูเกิล (Google) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแสวงหาโอกาส และการขยายตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังเร่งพัฒนาช่องทางดิจิตอล ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์หลักของธนาคารฯ เพราะเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูงมากในการสร้างนวัตกรรมการให้บริการต่างๆ รูปแบบใหม่ และเพื่อรองรับการใช้งานที่จะมีปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ธนาคารฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างระบบไอทีหลักให้ทันสมัยขึ้น
ปัจจุบัน ธนาคารมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้คล่องตัวยิ่งขึ้นบนดิจิตอลแพลตฟอร์ม ได้แก่ บริการ K-Mobile Banking Plus และ K-Cyber Banking ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งาน Internet and Mobile banking ของธนาคารกสิกรไทยมีมากกว่า 7.2 ล้านราย (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย.2558) บริการ K-Power Pay ที่ช่วยให้การรับชำระบัตรเครดิตสะดวกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน มีร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านบริการ K-Power Pay แล้วกว่า 21,000 ราย มีธุรกรรมหมุนเวียนกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงบริการ K-Payment Gateway ที่มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ย 83,000 ล้านบาทต่อปี
“การเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจของไทย และการพัฒนาเครื่องมือบนดิจิตอลแพลตฟอร์มให้รองรับ และอำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จะทำให้ทุกภาคส่วนพร้อมรับสถานการณ์ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล และจะช่วยผลักดันให้แนวโน้มธุรกิจดิจิตอลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายปกรณ์ กล่าว