xs
xsm
sm
md
lg

"EASTW" เตรียมเข็น UU บริษัทลูกเข้าตลาด

เผยแพร่:

บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์ วอเตอร์ เร่งเครื่องเสริมศักยภาพให้กับ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด หรือ ยูยู บริษัทในเครือ ก่อนส่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดดัน ยูยู ยึดหัวหาดธุรกิจบำบัดน้ำเสียและน้ำรีไซเคิล แย้มมีงานต่อเนื่อง คาดธุรกิจนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทได้ในอนาคต

นายวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯต่อยอดธุรกิจน้ำดิบและน้ำประปา ด้วยการรับดูแลเรื่องการบำบัดน้ำเสียและน้ำรีไซเคิล เพราะเห็นว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะมีการเติบโตที่ดีจากกระแสปัจจุบันที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ ได้ชูแนวคิด Smart City การสร้างเมืองท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม ด้วยระบบการบริหารจัดการน้ำครบวงจร ที่ไร้มลพิษ และในวันนี้ นิคมหลักชัยเมืองยาง ก็ได้ให้ความไว้วางใจในกลุ่มบริษัท ให้เป็นผู้บริหารจัดการน้ำเสียภายในนิคมฯ อีกโครงการหนึ่ง หลังจากได้เซ็นต์สัญญาบริหารและบำรุงรักษาระบบผลิตน้ำประปา ไปก่อนหน้านี้แล้ว


สำหรับโครงการบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยองนี้ จะใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Sequencing Batch Reactor (SBR) คือ ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge)ซึ่งเป็นระบบที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางได้ระบุไว้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี กำลังการผลิตอยู่ที่ 6,000 ลบ.ม.ต่อวัน ตั้งแต่ปี 2560 – 2589 คาดตลอดโครงการจะรับรู้รายได้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจนอกจากธุรกิจน้ำประปาที่จะช่วยเสริมความแข่งแกร่งให้กับ ยูยู ในระยะยาวได้


ขณะที่นายหลักชัย กิติพล ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กล่าวว่า นอกจากนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จะคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่น้ำสาธารณะแล้ว ในอนาคตยังได้มองถึงการนำน้ำที่บำบัดแล้วมาเป็นน้ำรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ในระบบผลิตภายในนิคมต่อไปด้วย เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำภายในนิคมฯ ด้วยการนำระบบ 3R : Reduce Reuse Recycle มาใช้บริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการรับมือภัยแล้งในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น