xs
xsm
sm
md
lg

ATP30 เตรียมเสนอขายไอพีโอ 160 ล้านหุ้น ปลายเดือน ก.ค.นี้ คาดเข้าเทรดต้น ส.ค.58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอทีพี 30 (ATP30) คาดว่า บริษัทจะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.25 บาท ราวปลายเดือน ก.ค.นี้ หลังจากเดินสายให้ข้อมูลนักลงทุนในช่วง 6-17 ก.ค. และน่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ราวต้นเดือน ส.ค.58 เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยาย และปรับปรุงกิจการ รวมทั้งชำระคืนหนี้ โดยมีเป้าหมายกำไร และรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ATP30 มีทุนจดทะเบียน 110.00 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 440 ล้านหุ้น มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 70.00 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้นสามัญ 280 ล้าน เป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการรับส่งพนักงานจากแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ทั้งในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา

นายปิยะ กล่าวว่า ความต้องการบริการรับส่งพนักงานของบรรดาผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนโรงงานทั้งหมดกว่า 5,800 โรงงาน ขณะที่บริษัทมีลูกค้า 22 ราย และมีส่วนแบ่งตลาดการให้บริการดังกล่าวเพียง 2% เท่านั้น ประกอบกับจุดแข็งของบริษัทที่เน้นการบริหารจัดการที่ดี คุณภาพ และมาตรฐานด้านความปลอดภัย จึงมีโอกาสขยายธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวอีกมาก

“ธุรกิจบริการรับส่งบุคลากรมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการรถรับส่งที่มีมาตรฐานขององค์กรต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนรถรับส่ง และพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำบริการรถรับส่งบุคลากรที่มีมาตรฐานด้านการบริการ และความปลอดภัยสูงสุดของประเทศ มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยศักยภาพของจำนวนรถที่ให้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทำให้เชื่อว่าบริษัทมีโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างต่อเนื่อง” นายปิยะ กล่าว

ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ไปเพิ่มจำนวนรถบัสขนาดใหญ่รับ-ส่งบุคลากรให้แก่บริษัทต่างๆ อีก 45 คัน ในช่วง 2 ปี จากปัจจุบันที่มีเป็นรถบัส 123 คัน และรถตู้ที่บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมให้บริการอีกราว 100 คัน ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ซึ่งบริษัทจะนำเงินราว 50 ล้านบาท ไปใช้เป็นเงินดาวน์รถบัสใหม่ที่มีราคาคันละ 3.7-4.7 ล้านบาท เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน จากเดิมที่ต้องผ่อนชำระทั้ง 100% รวมถึงเพิ่มจำนวนนักขับจากที่มีอยู่ 130 คน ให้สอดคล้องต่อจำนวนรถ

อีกส่วนหนึ่งจะนำไปการชำระหนี้เงินกู้ราว 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่สำคัญของบริษัท เชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลงมาเหลือ 1 เท่า จากที่สูงถึง 4 เท่า เพื่อเสริมศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

นอกจากนั้น ยังจะใช้เงินทุนดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจ และบริการให้ครอบคลุมเขตพื้นที่ภาคตะวันออก พัฒนาศูนย์อบรมและหลักสูตรนักขับ พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับบริหารการเดินรถ ปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ชลบุรีให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำบริการรถรับส่งบุคลากรที่มีมาตรฐานด้านการบริการ และความปลอดภัย

นายปิยะ กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทว่า ในปี 58 คาดว่า รายได้จะเติบโตได้ราว 15-20% โดยขณะนี้บริษัทมีมูลค่าสัญญาของลูกค้าประมาณ 1 พันล้านบาท แต่เหลือรอรับรู้รายได้ราว 670 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะรับรู้รายได้ราว 270 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนกำไรจะเติบโตได้สูงกว่ารายได้ แม้ว่าปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบันทึกไปเมื่อไตรมาส 1/58 แต่บริษัทได้ผ่านจุดที่เป็น Economy of scale เมื่อได้เพิ่มจำนวนรถครั้งล่าสุดไปอีก 16 คันแล้ว

อนึ่ง ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ปี 56 บริษัทมีรายได้รวม 206.76 ล้านบาท จากนั้นในปี 57 เพิ่มขึ้นเป็น 234.85 ล้านบาท เติบโต 13.59% ส่วนกำไรในปี 56 อยู่ที่ 6.04 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 ล้านบาทในปี 57 คิดเป็นการเติบโตราว 46.69% โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากรถของบริษัทเอง 70% และรถร่วมฯ 30%

นายปิยะ กล่าวอีกว่า อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในปีนี้ และปีต่อไป โดยในปี 58 คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 18.94% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตรากำไรสุทธิที่คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.42% แม้ว่าปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่ดีนัก แต่บริษัทมีกลยุทธ์ในการควบคุมความเสี่ยงที่ดีด้วยการกระจายลูกค้าไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน

“เราแบ่งกลุ่มลูกค้าไปหลายกลุ่มเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างถ้ารถยนต์ ปิโตรเคมี ไม่ดี ก็มีสินค้าอุปโภคบริโภค ถุงมือยางมาช่วย นอกจากนั้น เรายังไม่รับงานทั้งหมดในสาย เราแบ่งให้คนอื่นด้วย พยายาม balance รายได้” นายปิยะ กล่าว

สำหรับโอกาสของการขยายการให้บริการไปในภูมิภาคอื่นๆ นั้น นายปิยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็มีลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการอยู่ในโซนภาคตะวันออกสอบถามว่า บริษัทสามารถให้บริการกับโรงงานที่อยู่ในภาคอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ทำให้บริษัทได้ศึกษาไว้บ้าง รวมไปถึงการขยายไปในต่างประเทศด้วย แต่คงยังไม่ใช่ภายใน 2-3 ปีนี้ เนื่องจากการขยายบริการต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น การตั้งสำนักงานสาขา และอู่ซ่อมบำรุง บริษัทจึงต้องการเน้นในพื้นที่ที่ความพร้อมอยู่แล้ว และยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น