SCB EIC ประเมินภาคท่องเที่ยวไทยรับผลความกังวล MERS แต่เชื่อไม่รุนแรงเท่า SARS ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจได้รับผลกระทบด้วย คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการด้านความบันเทิง และธุรกิจร้านอาหาร
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางรายแรกเป็นชาวตะวันออกกลาง โดยได้รับตัวไว้ดูแลที่สถาบันบำราศนราดูร อีกทั้งติดตาม และสังเกตอาการผู้สัมผัสโรคทั้ง 59 ราย ประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการด้านความบันเทิง และธุรกิจร้านอาหาร มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความกังวล
อย่างไรก็ตาม มองว่า MERS มีแนวโน้มที่จะระบาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับ SARS เนื่องจากครั้งนี้มีความชัดเจนมากกว่าในเรื่องชนิดไวรัส ส่งผลให้มีการควบคุมได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ความรุนแรงของไวรัสมีแนวโน้มว่า MERS มีความรุนแรงมากกว่า SARS โดยอัตราการตายในปัจจุบันค่อนข้างสูงอยู่ที่ราว 36% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรค SARS จากจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นอยู่ที่ราว 15% โดยผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า
เมื่อช่วงปี 2546 ที่การระบาดของโรค SARS ในประเทศไทยไม่รุนแรงนัก ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งปีลดลงไปเพียง 7% ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีรายงานการเสียชีวิตจากทั่วโลกมากที่สุด จะทำให้นักท่องเที่ยวในไทยลดลงไปถึง 50% ก็ตาม ซึ่งเมื่อเทียบกับฮ่องกง ที่ถือว่ามีการระบาดของโรคที่รุนแรง และเป็นจุดที่มีการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงไป 80% รายได้จากธุรกิจค้าปลีกหดตัวลงไปถึง 50% รวมถึงรายได้จากธุรกิจบริการด้านความบันเทิง และร้านอาหารลดลงไปเกือบ 80% เช่นกัน
ปัจจุบัน ฮ่องกงได้มีการยกระดับการเตือนการเดินทาง (Travel Alert) ไปยังเกาหลีใต้แล้ว ซึ่งถ้าหากไทยไม่มีการควบคุมโรคที่ดีจะทำให้มีการยกระดับการเตือนการเดินทางจากประเทศต่างๆ เช่นกัน โดยปัจจุบันฮ่องกงได้มีการยกระดับการเตือนการเดินทางไปยังเกาหลีใต้ที่มีการระบาดของ MERS ที่รุนแรง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2015 เป็น “red alert” ซึ่งเป็นการเตือนภัยความรุนแรงอันดับ 2 จาก 3 ระดับการเตือนภัย โดยสภาการท่องเที่ยวฮ่องกงได้ประกาศยกเลิกทัวร์ที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้ทั้งหมดจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว