ก.ล.ต. เผยผลงานวิจัยพฤติกรรมนักลงทุนไทยชอบเทรดหุ้นตามกระแส ทำให้มีความเสี่ยงขาดทุนสูง พบดัชนี SET ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานในระดับสูง เช่น ปริมาณการซื้อขาย ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่การเพิ่มขึ้น หรือลดลงของดัชนีตลาดได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากปัจจัยพื้นฐาน
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 3/2558 ก.ล.ต. เผยแพร่ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับสภาพคล่อง และพฤติกรรมผู้ลงทุนตามกระแส (noise trader) ในตลาดหุ้นไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาข้อมูลและการประเมินมูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์ให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงในการซื้อขายหลักทรัพย์
ผศ.ธนโชติ บุญวรโชติ นักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงผลงานวิจัยเรื่องแรก “ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน ปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนและความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ซึ่งงานวิจัยนี้ใช้แบบจำลองเพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (return) ความผันผวนของอัตราผลตอบแทน (volatility) และปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ (volume) ของผู้ลงทุนแต่ละประเภทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อวิเคราะห์หาโอกาสในการเกิดความเสี่ยงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกระแส (noise trading risks) โดยพบว่า มีความเสี่ยงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกระแสใน SET แสดงให้เห็นว่า ดัชนี SET ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานในระดับสูง เช่น ปริมาณการซื้อขาย ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ที่การเพิ่มขึ้น หรือลดลงของดัชนีตลาดได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากปัจจัยพื้นฐาน
งานวิจัยเรื่องที่ 2 เกี่ยวกับ “การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบ Noise Traders ของนักลงทุนภายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ซึ่งได้เคยศึกษาวิจัยไปแล้วเมื่อปี 2553 และสรุปผลว่า ผู้ลงทุนรายย่อยมีแนวโน้มพฤติกรรมลงทุนตามกระแสนั้น ต่อมา ได้ทำวิจัยเพิ่มเติม และได้ข้อสรุปใหม่ คือ พฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทใน SET เป็นผู้ลงทุนที่ทำการบ้านอย่างดีก่อนการตัดสินใจซื้อขาย (informed traders)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดผลตอบแทนการลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละประเภท ปรากฏว่า ผลตอบแทนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศมีค่าสูงสุด ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีผลตอบแทนการลงทุนต่ำสุด เนื่องจากข้อจำกัดที่เกิดจากวิธีการส่งคำสั่ง โดยผู้ลงทุนสถาบันส่งคำสั่งซื้อขายโดยใช้ราคาตลาด (market order) ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อย ส่งคำสั่งซื้อขายโดยวิธีระบุราคา (limit order) จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์มากกว่า