ธปท. หั่นคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโตแค่ 3.8% จากเดิม 4% ส่วนปีหน้าคาดโตได้ 3.9% ยอมรับ ศก.ในปี 58 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 58 เหลือเติบโตราว 3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ส่วนในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับ 3.9%
ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าคาด โดยเฉพาะงบลงทุน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ถูกบั่นทอนลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า
ด้านมูลค่าการส่งออกลดลงจากคาดการณ์เดิม เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาด และราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.8 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4 และการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 0.8 จากเดิมร้อยละ 1 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 โตต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศ จึงทำให้แรงส่งในปีนี้ลดลงด้วย ประกอบกับความเชื่อมั่นของประชาชนและนักธุรกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปีชะลอลง ส่งผลเอกชนชะลอการลงทุน / การใช้จ่ายภาครัฐทำได้ล่าช้า / และมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากยังเชื่อว่าในแต่ละไตรมาสจีดีพียังขยายตัวได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ ยอมรับว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 2.5 บวกลบ 1.5 โดยปีนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะติดลบ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่สามารถกลับมาเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง โดยปีนี้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 59.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล และปีหน้าอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แต่ยืนยันว่า เงินเฟ้อแม้จะหลุดกรอบเป้าหมายแต่ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด ซึ่งหลายประเทศเจอสถานการณ์เดียวกัน
ส่วนปี 2559 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4 โดยยังต้องติดตามความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก / ความแตกต่างของนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศหลักที่อาจส่งผลต่อตลาดการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ / ความสามารถในการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชน / และความเสี่ยงจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมานาน