บอร์ด “ลีซ อิท” ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานในปี 57 ในอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น หลังกำไรสุทธิกว่า 47.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เทียบปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 32.10 ล้านบาท สวนกระแสเศรษฐกิจ ด้านหัวเรือใหญ่ “สมพล เอกธีรจิตต์” แง้มแผนปี 58 ประกาศเดินหน้าบุกตลาดลูกค้าเอสเอ็มอี เพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งให้ลูกค้ารายใหม่เพิ่มเป็น 200 ล้านบาทต่อเดือน หลังดีมานด์เพียบ แบงก์คุมเข้มปล่อยกู้ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้ทะลุ 1 พันล้านบาท รายได้-กำไรเติบโต 30% เทียบปีก่อน
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2557 ในอัตรา 0.12 บาท/หุ้น กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 20 มี.ค.2558 วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้ 23 มี.ค.2558 รับปันผลตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 18 มี.ค.2558
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ LIT ในปี 2557 มีรายได้รวม 128.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.42 ล้านบาท หรือ 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 104.65 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 47.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.71 ล้านบาท หรือ 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 32.10 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการขยายฐานลูกค้าภาคเอกชนมากขึ้น และมีการเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งให้แก่ลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับตัวเพิ่มขึ้น
“แผนการดำเนินงานปีนี้ LIT เตรียมขยายฐานรุกลูกหนี้เอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อแฟกตอริ่ง โดยตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ และกำไรเติบโต 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” นายสมพล กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2558 นอกเหนือจากการขยายตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีแล้ว บริษัทยังมีแผนขยายผลิตภัณฑ์การเงินจากเดิมที่ให้น้ำหนักต่อการปล่อยสินเชื่อลีสซิ่ง หรือสินเชื่อไฮ-เพอร์เชส ซึ่งถือเป็นโปรดักต์ปลายน้ำ ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำ โดยหันมาเพิ่มน้ำหนักในสินเชื่อแฟกตอริ่ง หรือการรับซื้อลูกหนี้ทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรุกในหนี้ภาคเอกชนมากกว่าจากเดิม ในเวลาเดียวกันก็จะปรับสัดส่วนสินเชื่อประเภทเทรด และโปรเจกต์ไฟแนนซ์ให้มากขึ้น เพราะมาร์จิ้นสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจที่มีมากว่า 7-8 ปี ทำให้การบริหารความเสี่ยงและการคัดกรองลูกค้ามีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันมีเอ็นพีแอลเพียง 2% เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม ที่ผ่านมา บริษัทจะให้วงเงินสินเชื่อแฟกตอริ่งเอสเอ็มอีรายใหม่อยู่ในระดับวงเงินประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในปีนี้มีแผนเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 200 ล้านบาท เพราะความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้มีสูง เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้มากนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าหันมาพึ่งสินเชื่อกับบริษัทมากขึ้น ล่าสุด ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต้องถือว่าผลงานเข้าเป้าตามที่วางไว้โดยได้เพิ่มวงเงินให้สินเชื่อแฟกตอริ่งลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ถึง 245 ล้านบาททีเดียว
กรรมการผู้จัดการ LIT กล่าวเสริมว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจะชะลอตัวจากปัญหาการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่รายได้และกำไรของ LIT ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจาก LIT ได้มีขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่ง สามารถเพิ่มวงเงินในการปล่อยกู้ให้แลูกค้ารายใหม่มากขึ้น ตลอดจนการเข้ารุกในสินเชื่อกลางน้ำประเภทเทรด และโปรเจกต์ไฟแนนซ์ที่ให้ผลตอบแทน และมีมาร์จอ้นค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับสินเชื่อเช่าซื้อที่มาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ