xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดตลาดหุ้นอาเซียนหารือร่วมมาเลย์ รับการเติบโตเศรษฐกิจในภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน จับเข่าคุยนายกเมืองเสือเหลือง หวังพัฒนาศักยภาพตลาดทุนในภูมิภาค  รองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน เน้นช่องทางส่งเสริมการลงทุนผ่านดิจิตอล และสื่อสังคมออนไลน์

ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงครั้งที่ 22 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2558 โดยหารือร่วมกับนายนาจิบ ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และลดความแตกต่างระหว่างตลาดทุนอาเซียน เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค สอดรับต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

ในส่วนของ นายดาโต๊ะ ทาจูดิน อาทาน (Dato’ Tajuddin Atan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างตลาดทุนอาเซียนได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์อาเซียนจะยังคงสนับสนุนพัฒนาการต่างๆ และความเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แข่งขันกันได้ พร้อมทั้งจะพัฒนาช่องทางให้ผู้ลงทุนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคที่หลากหลายได้สะดวกยิ่งขึ้น

ขณะที่ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวเสริมว่า ตลท.พร้อมสนับสนุนหลักการความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในภูมิภาคที่แข่งขันกันได้ และเติบโตไปด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ได้เห็นชอบร่วมกันในการมุ่งพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิตอล และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ ASEAN เป็นที่รู้จักแก่ผู้ลงทุนทั่วโลก เช่น การใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางการเผยแพร่ และพูดคุยข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลผลิตภัณฑ์การลงทุนในภูมิภาค ส่วนการพัฒนาเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน www.aseanexchanges.org ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 6 ประเทศซึ่งแสดงในเว็บไซต์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันประมาณ 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนมากกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีพลวัตสูงในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การเงินและการธนาคาร พลังงาน โทรคมนาคม สินค้าโภคภัณฑ์ และภาคการผลิต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น