xs
xsm
sm
md
lg

แนะจับตาการปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม อาจกดดันขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูป และกลายเป็นภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้อีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัย ศก. ธ.ไทยพาณิชย์ คาดเงินเฟ้อปี 58 ยังอยู่ในระดับต่ำ เผยสิ่งที่น่าจับตามองในปีนี้ ได้แก่ การขึ้นราคาแก๊สหุงต้มตามนโยบายการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งอาจกดดันให้ราคาอาหารสำเร็จรูปเร่งตัวขึ้น และกลายเป็นภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้อีกครั้ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 58 จะชะลอลงจากปี 57 มาอยู่ที่ 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ โดยเงินเฟ้อปี 58 ยังไม่มีปัจจัยกดดันให้เร่งตัวได้มากนัก เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปตลอดปีนี้ ผนวกกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีปัจจัยเสริมทางเศรษฐกิจที่จะสร้างแรงกระตุ้นต่อราคาสินค้า

ขณะที่วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 57 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงกว่ากึ่งหนึ่งจากระดับ 1.26% ในเดือน พ.ย.57 และนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.69% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจาก 1.60% ในเดือน พ.ย.57 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดทั้งปี 57 อยู่ที่ระดับ 1.9% และ 1.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ พบว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงเป็นปัจจัยหลักของการชะลอตัวของเงินเฟ้อ เงินเฟ้อด้านพลังงานของเดือน ธ.ค.57 หดตัวถึง 7.4% ตามภาระค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลที่ปรับลดลงเฉลี่ย 9.2% นอกจากนี้ ต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลงยังส่งผลให้เงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดชะลอลงเหลือเพียง 1.88% กอปรกับผลผลิตทางการเกษตรที่ยังคงเข้าสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 57 ราคาอาหารสดมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.89% เท่านั้น

โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นช่วงปลายปี ถึงแม้เงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารปรุงสำเร็จเดือนธันวาคมจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องที่ระดับ 4.7% จาก 4.89% ในเดือน พ.ย. จากผลทางอ้อมของราคาน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนการประกอบอาหารลดลง

แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่พักอาศัยเดือน ธ.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้น 1.1% เทียบกับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย.ที่ปรับสูงขึ้นเพียง 0.5% หรือด้านต้นทุนการก่อสร้างที่พักอาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ผ่านทางราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าจ้างแรงงานก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้นที่ระดับ 0.75% และ1.83% ในเดือน ธ.ค.จาก 0.64% และ 1.72% ในเดือน พ.ย.ตามลำดับ

สำหรับราคาอาหารปรุงสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นถึง 4.7% ถึงแม้ระดับราคาสินค้าโดยรวมตลอดทั้งปี 57 จะมีราคาสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.9% (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) แต่หากพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารจะพบว่า ราคาอาหารสำเร็จรูปตลอดปี 57 ทั้งเพื่อการบริโภคในบ้าน และนอกบ้านปรับตัวสูงขึ้นถึง 4.6% และ 5.0% ตามราคาแก๊สหุงต้มที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.56-พ.ค.57 ซึ่งหากผู้บริโภคเป็นผู้มีรายได้น้อย และมีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารสำเร็จรูปเป็นสัดส่วนใหญ่ของรายได้ ย่อมทำให้ผู้บริโภครายดังกล่าวมีภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นกว่า 3%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองในปี 58 คือ การขึ้นราคาแก๊สหุงต้มตามนโยบายการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งอาจกดดันให้ราคาอาหารสำเร็จรูปเร่งตัวขึ้น และกลายเป็นภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น