กรมบัญชีกลาง เผยตัวเลขเศรษฐกิจภูมิภาคปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.8 เหตุสินค้าเกษตรตกต่ำ และการท่องเที่ยวชะลอตัว ส่วนปี 58 คาดขยายตัวร้อยละ 4.7
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชน นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลการขยาตัวเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Gross Reginal Product : GRP) จึงมอบหมายให้สำนักการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง จัดทำข้อมูลเพื่อรายงานการติดตาม และประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาค เพราะเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้มากส่วนใหญ่มาจากภูมิภาค โดยเศรษฐกิจภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด มีมูลค่าประมาณ 8.5 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 และเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ขยายตัวมากกว่าเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้าน
โดยคาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากปี 2556 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรลดลง ผลผลิตทางการเกษตรชะลอลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มได้เพียงเล็กน้อย การท่องเที่ยวและบริการไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 3.7 เป็นผลมาจากธุรกิจบริการและการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มภาคเหนือตอนล่างเติบโตน้อยที่สุด ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 เป็นผลมาจากผลผลิตภาคเกษตรที่ชะลอตัวลง ทำให้การบริโภคลดลง
สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคปี 2558 คาดการณ์ว่า GRP จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.7 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 4.2-5.2 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะขยายตัวได้มากขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินภาครัฐ นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และการปรับลดราคาน้ำมันทำให้การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการเร่งเดินหน้าพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร ตาก ตราด สงขลา และสระแก้ว ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จึงทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีมูลค่าประมาณแสนล้านบาท
“เศรษฐกิจภูมิภาคมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ มูลค่าประมาณ 8.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มของขนาด และการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละจังหวัดมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และปัจจัยการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการค้าชายแดน การพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการลงทุนในระบบการขนส่งสินค้า เป็นต้น”
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนจะเติบโตมากที่สุดที่ร้อยละ 5.5-6.5 เพราะเป็นพื้นทีให้บริการด้านการท่องเที่ยว และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเติบโตน้อยที่สุดที่ร้อยละ 2.1-3.1 เพราะเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งยังเผชิญราคาตกต่ำ และยังมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้