ประธานบอร์ด เอเชีย เวลท์ ชี้ตลาดหุ้นปีหน้าส่งสัญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดภาคส่งออกไทยดีขึ้น เผยแนวโน้ม SET INDEX อาจทะลุ 1,850 จุด เทียบอัตราส่วน P/E Ratio ที่ 15.3 เท่า ส่วนมาตรการสกัดหุ้นร้อนที่ทาง ก.ล.ต.เตรียมประกาศมีผลดีต่อนักลงทุน
นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทัพย์ เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า เม็ดเงินที่จะใหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยคาดว่าจะไม่ปรับตัวลดลง เนื่องจากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ และการเตรียมออกมาตรการ QE ของทั้งยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้สถานการณ์แล้ว ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในปี 2558 จะดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากนี้ หากเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียในกลุ่ม TIP ด้วยกันคือ Thailand Philippines Indonesia ดัชนีค่า P/E ของ 2 ตลาดคือ Philippines และ Indonesia ปรับตัวดีขึ้นกว่าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ในครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่าตลาดหุ้น Philippines และ Indonesia ซึ่งนโยบายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่ค้างอยู่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม กรอบดัชนี SET INDEX ในปีหน้า คาดว่าจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ถึง 1,850 จุด เทียบอัตราส่วน P/E Ratio ที่ 15.3 เท่า จากอัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเติบโตขึ้นได้โดยหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะสามารถกลับมาทำกำไรได้อย่างโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคาร ที่จะเติบโตมากขึ้น และหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายภาครัฐจะได้รับอานิสงส์ที่ดี เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มรับเหมา กลุ่มค้าปลีกค้าส่ง กลุ่มอาหารจะโตตามการอัตราบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวขึ้น กลุ่มสื่อสารที่จะได้ประโยชน์จากการเลื่อนประมูล 4G ออกไป
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการสกัดหุ้นร้อนที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปีหน้า ส่วนตัวมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่จะเกิดประโยชน์ต่อนักลงทุนรายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายฝ่ายลงความเห็นว่า จะเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลในด้านการลงทุนหรือไม่ โดยการออกมาตรการดังกล่าวเป็นการสกัดกั้นรูปแบบการลงทุนประเภทซื้อขายตามๆ กันที่ไม่ได้พิจารณาปัจจัยพื้นฐานการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งทั้ง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้พิจารณาในการออกกฎข้อบังคับที่มีความรอบคอบรัดกุม และมีเสถียรภาพมากขึ้น