ก.ล.ต.นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) “ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง” ที่ปรึกษาทางการเงิน “อนงค์ ยุวะหงษ์”คาดเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์ mai ต้นปี 58 ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนเตรียมนำไปขยายธุรกิจ พร้อมนำไปก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า ด้านผู้บริหารหนุ่มไฟแรง “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” วางเป้าหมาย 3-5 ปีข้างหน้า ผุดโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ พร้อมลุยงานตามแผนงานที่วางไว้
น.ส.อนงค์ ยุวะหงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พิจารณานับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ที่เตรียมจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 89,450,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็น 22.36% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ แบ่งเป็นจำนวนไม่เกิน 50,390,435 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ไทยโพลีคอนส์จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY ตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่ถืออยู่ใน TPOLY (Pre-emptive right) ส่วนที่เหลืออีก 39,059,565 หุ้นเสนอขายต่อประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะนำหุ้น TPCH เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ได้ประมาณต้นปี 58
“ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้นับหนึ่งไฟลิ่งหุ้นไอพีโอของ TPCH เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนระยะเวลาเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอ คาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นปีหน้า และ TPCH คงเป็นหุ้นไอพีโอน้องใหม่อีก 1 บริษัท ที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกที่มีอนาคต และมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งผู้บริหารยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมที่จะนำองค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง” น.ส.อนงค์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ TPCH เปิดเผยว่าบริษัทมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ภายในปี 60) ประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 100 เมกะวัตต์ 2.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 80 เมกะวัตต์ ส่วนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว 5 ปี (ภายในปี 2562) ประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 150 เมกะวัตต์ และเข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
“หลังจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรก คือ โรงไฟฟ้าช้างแรก ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มีรายได้ในปี 2556ที่ 180 ล้านบาท และในอนาคตเมื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าให้ได้กำลังการผลิตตามแผน 3 ปี และ 5 ปีแล้ว น่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคงรวมทั้งเป็นการรองรับการเติบโตของธุรกิจพลังงานในอนาคตอีกด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้บริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจรวมไปถึงการก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 401,200,000 บาทประกอบด้วย หุ้นสามัญ จำนวน 401,200,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และเรียกชำระแล้ว จำนวน 310,550,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 310,550,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จำนวน 400,000,000 บาท ซึ่งจะแบ่งเป็นหุ้นสามัญเดิม 310,550,000 หุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 89,450,000 หุ้น โดยมีหุ้นที่รองรับการใช้สิทธิ ESOP ของพนักงานอีกจำนวน 1,200,000 หุ้น