xs
xsm
sm
md
lg

น้ำตาลบุรีรัมย์ เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 6.80 บาท เปิดจอง 29-31 ต.ค.นี้ มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำตาลบุรีรัมย์ เคาะราคาขายหุ้น IPO หุ้นละ 6.80 บาท หลังสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน พร้อมเปิดจองหุ้นระหว่าง 29-31 ต.ค.นี้ ก่อนเข้าเทรดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เซ็นสัญญาแต่งตั้ง บล.เคที ซีมิโก้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี ขณะที่ผู้บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ มั่นใจยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดรุกสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มตัว หวังดันผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของบริษัทฯ รวมทั้งยังแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 4 ราย ประกอบด้วย บล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล. ฟินันเซีย ไซรัส และ บล. ทิสโก้ จำกัด

นายคมกฤต มีคำสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจาก บล.เคที ซีมิโก้ ได้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 6.80-6.90 บาทต่อหุ้น ซึ่งพบว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 6.90 บาท แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจและสนใจหุ้น BRR แต่เนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวน บริษัทฯ จึงตัดสินใจที่จะมีส่วนลดให้แก่นักลงทุนมากถึง 25.27% เมื่อเปรียบเทียบจากราคา Fair value จึงกำหนดราคาขายหุ้น IPO ของ BRR ในราคาหุ้นละ 6.80 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจสู่พลังงานทดแทน โดยมุ่งให้ความสำคัญคุณภาพผลผลิตอ้อย ผ่านการส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้ชาวไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์อ้อยและปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพื้นที่ ตลอดจนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยจัดการแปลงเพาะปลูกส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105 กิโลกรัม เป็น 118 กิโลกรัม นับเป็นผลผลิตที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าเฉลี่ยของโรงงานในแต่ละกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาล โดยฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ผ่านมา มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 1.77 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 208,800 ตัน และในฤดูการหีบอ้อยปีนี้ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถรองรับผลผลิตเข้าหีบได้สูงสุดเป็น 2 หมื่นตันต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตันเศษ ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น

“เรามั่นใจว่าด้วยพื้นฐานของบริษัทฯ ที่มีความแข็งแกร่งและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยต้องการมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้แก่ธุรกิจ ด้วยการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนที่ชัดเจน จึงมั่นใจว่าหุ้น บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปให้ความสนใจจองซื้อหุ้น IPO ของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ แน่นอน” นายคมกฤต กล่าว

สำหรับ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้เสนอขายหุ้นขายหุ้น IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 676,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดย BRR จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่เหลือจะนำเงินไปชำระเงินกู้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป

ด้านนายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า จากประสบการณ์ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี ด้วยปรัชญา ‘น้ำตาลสร้างในไร่’ บริษัทฯ จึงมุ่งให้ความสำคัญด้านคุณภาพอ้อย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพด้านการผลิตน้ำตาลสูงสุด และสามารถนำผลพลอยได้มาต่อยอดสร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ กฟภ. ได้ในช่วงต้นปี 2558 จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา

ส่วนกากหม้อกรองที่เกิดจากผลพลอยได้กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายเช่นกัน จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอ้อย โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 56 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 4,008.80 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 205.56 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 7 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,529.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 110.03 ล้านบาท

“เรามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่แข็งแกร่ง และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย รวมถึงยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเราเชื่อว่า ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจของน้ำตาลบุรีรัมย์นี้ จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายอนันต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น