xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” เร่งปั๊มสินเชื่อเข้าระบบ “ออมสิน” เน้นขยายสินเชื่อกลุ่มฐานราก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอสเอ็มอีแบงก์” เร่งปล่อยกู้สินเชื่อ 9 เมนู หวังช่วย SMEs ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง พร้อมบริการรับยื่นกู้วันเสาร์นี้ “ออมสิน” มั่นใจกำไรปีนี้เกินเป้าที่ 1.9 หมื่นล้าน ระบุครึ่งปีหลังธนาคารจะเน้นขยายสินเชื่อกลุ่มฐานราก

นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารระดมพนักงานที่มีจิตอาสาช่วยลูกค้าให้ได้รับสินเชื่อในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่จะยื่นขอกู้ในโครงการสินเชื่อ 9 เมนู คืนความสุข SMEs ทั้งจากช่องทาง Call Center 1357 ทาง Website ของธนาคาร ที่รอยื่นกู้อยู่เป็นจำนวนมากที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่ต้องการเพิ่มยอดขาย ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเร็วขึ้น ธนาคารจึงเปิดให้บริการรับคำขอยื่นกู้ในวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. เริ่มดีเดย์วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2557 จนสิ้นปี 2557 ที่ SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ ชั้น 11

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจขอสินเชื่อ 9 เมนูของธนาคาร สามารถติดต่อขอใช้บริการในวันเสาร์ โดยเริ่มวันที่ 4 ตุลาคม 2557 จนสิ้นปี 2557 ที่ SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ ชั้น 11 หรือติดต่อสอบถามข้อมูล ได้ที่ โทร.1357 หรือสามารถดาวน์โหลดคำขอกู้ได้ทันทีจาก www.smebank.co.th

ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.9 หมื่นล้านอย่างแน่นอน หลังจาก 9 เดือนที่ผ่านมา มีกำไรแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารจะรุกขยายสินเชื่อกลุ่มฐานรากและรายย่อยมากขึ้น เพราะกลุ่มดังกล่าวยังมีความต้องการเข้าถึงสินเชื่อค่อนข้างมาก  

“ตอนนี้ขาดแค่ 5,000 ล้าน ก็จะได้ตามเป้าหมาย เหลืออีก 3 เดือนเชื่อว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน คงเกินเป้าแน่นอน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการขยายไปยังกลุ่มรายย่อย และฐานรากมากขึ้นด้วย”

ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไร 13,607 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 723 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 มีเงินให้สินเชื่อ 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 125,626 ล้านบาท   

สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อแก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น   

ขณะที่การรับฝากเงินภายใต้ภารกิจ ความเป็นสถาบันเพื่อการออมของธนาคารออมสิน มียอดเงินฝากรวม 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 85,010 ล้านบาท โดยปริมาณเงินฝากยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จากการที่ธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพิ่มสุข อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.5% ต่อปี เปิดรับฝากถึงสิ้นปีนี้ และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน และ 9 เดือน ที่ขยายเวลารับฝากไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.2557

“ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ธนาคารมุ่งให้ความสำคัญด้านบริการอย่างมีคุณภาพภายใต้เครือข่ายและช่องทางการให้บริการของธนาคารที่จะมุ่งนำนโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมาย โดยผ่านสาขาให้บริการเต็มรูปแบบจำนวน 1,009 แห่ง เครื่องให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และ ATM จำนวนกว่า 7,500 แห่ง หน่วยให้บริการเคลื่อนที่จำนวนกว่า 100 แห่ง มีธนาคารโรงเรียนออมสินเพื่อปลูกฝังการออมด้วย”

นายธัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 56 ส่งผลกระทบต่อลูกค้าสินเชื่อ และเอสเอ็มอีบางกลุ่มขาดความสามารถในการชำระหนี้ ส่งผลให้ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจ การเมือง และภัยพิบัติจากภาคเหนือ ด้วยการลดงวดผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน มาตรการบรรเทาแผ่นดินไหว พักชำระหนี้ลูกค้าเก่าไม่เกิน 6 เดือน ลดเงินงวดหรือขยายเวลาผ่อนชำระ รวมถึงให้กู้เพิ่มเติม สำหรับมาตรการดังกล่าว มีลูกค้าสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 90,000 ราย อนุมัติแล้ว 37,000 ราย คิดเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท  

“ช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้ธนาคารต้องเร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้า ทั้งการยืดเวลาการชำระหนี้ และพักชำระหนี้ เป็นต้น”

ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในสิ้นปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายคุมไว้ที่ 1.5% จากปัจจุบันที่ 1.6-1.7% หรือคิดเป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยคาดว่า เอ็นพีแอลที่ปรับลดลงจะมาจากการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มใหม่มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น