3 สมาคมอสังหาฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ขยายเขตที่อยู่แรงงานจากระดับอำเภอเป็นจังหวัด แรงงานเปลี่ยนนายจ้างใหม่ต้องให้นายจ้างเดิมยินยอม วอนแก้ปัญหาแรงงานรับมือวิกฤตขาดแคลน หากโครงสร้างพื้นฐานเริ่มก่อสร้าง แถมงานภาคเอกชนโตรับเปิดเออีซี
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาแก้ปัญหาแรงงาน ส่งผลให้ปัญหาแรงงานลดน้อยลง แต่เชื่อว่าหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้มีความต้องการแรงงานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ แต่การแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ยังไม่เป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งหากภาครัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็จะกลับมา และรุนแรงมากกว่าเดิม รวมถึงเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ความต้องการแรงงานในภาคก่อสร้างจะมากขึ้น การขาดแคลนแรงงานอาจขยายไปถึงระดับวิศวกร
ปัจจุบัน ในภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์มีแรงงานราว 700,000 คน ซึ่งยังเพียงพอต่องานก่อสร้างในปัจจุบัน แต่ไม่เพียงพอหากมีการขยายการลงทุนของทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมองว่าควรมีการนำเข้าแรงงานเพื่อสำรองไว้อีก 80,000-100,000 คน
นายอธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย อยู่ระหว่างการทำหนังสือยื่นต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ รองรับความต้องการแรงงานในอนาคต เมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การขยายการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น และการเปิดเออีซี ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานมีเพิ่มมากขึ้น
ส่วนประเด็นในการนำเสนอ เช่น ห้ามแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้างเอง เพราะที่ผ่านมา เมื่อนายจ้างนำแรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีค่าใช้จ่ายราว 20,000 บาท แต่ปัญหาที่พบตามมาคือ แรงงานมักจะหนีไปหาแหล่งงานที่ได้ค่าแรงสูงกว่า ส่งผลกระทบต่อนายจ้างเดิมที่เสียค่านำเข้าแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายฟรีๆ แต่นายจ้างใหม่กลับไม่ต้องเสียค่านำเข้าแรงงาน
“หากแรงงานต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ต้องให้นายจ้างเดิมยินยอม หรือมีการเจรจาตกลงกับนายจ้างใหม่เพื่อตกลงค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงาน หรือจ่ายผลตอบแทนที่เหมาะสม หรือหากตกลงไม่ได้อาจส่งกลับประเทศ เพื่อให้นายจ้างใหม่เข้าสู่กระบวนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย” นายอธิป กล่าว
นอกจากนี้ การเรียกร้องขอขยายเขตที่อยู่ของแรงงานเป็นจังหวัดจากเดิมที่อนุญาตให้สามารถเคลื่อนย้ายได้เฉพาะในเขต หรืออำเภอเท่านั้น และหากเคลื่อนย้ายข้ามเขตก็จะต้องเสียค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะอยู่คนละฝั่งถนนก็ตาม ซึ่งปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาฯ และประมง อย่างมาก เพราะลักษณะการทำงานต้องเคลื่อนย้ายไปตามไซต์งาน บางครั้งแคมป์ที่พักคนงาน และสถานที่ก่อสร้างก็ต้องอยู่คนละที่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายให้ระบุได้ 4-5 เขตในการขออนุญาตครั้งเดียว และเสียค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว แต่ผู้ประกอบการยังประสบปัญหา เพราะบางครั้งจะไม่รู้สถานที่ก่อสร้างล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับการประมูลงาน หรือการซื้อที่ดินที่จะนำมาลงทุน แต่หากสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้เสรีในจังหวัดเดียวกัน ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการลงทุนได้มากขึ้น
“กระทรวงแรงงาน และภาครัฐควรมีการพิจารณาเพิ่มแหล่งนำเข้าแรงงาน จากเดิมที่เป็นประเทศที่อยู่ติดกับชายแดนไทย อาจขยายเพิ่มเติม อินโดนีเซีย ซึ่งยังมีแรงงานเหลือ และค่าแรงมีราคาถูก โดยอาจนำเข้าในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการนำเข้าแรงงาน” นายอธิป กล่าว