xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ไทยเลื่อนอันดับขึ้นที่ 36 ของโลก เผยดัชนีความโปร่งใสเพิ่มเป็น 2.76

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจแอลแอล เผยผลสำรวจดัชนีชี้ความโปร่งใสในตลาดอสังหาฯทั่วโลกประจำปี 2557 ระบุดัชนีความโปร่งใสในอสังหาฯอาเซียนปรับตัวเพิ่ม แจงอสังหาฯ ไทยมีค่าดัชนีที่ 2.76 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.94 ในปี 2555 ด้านการจัดอันดับอสังหาฯ ไทยขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 36 จากอันดับที่ 39

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงาน “Global Real Estate Transparency Index” (ดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์โลก) ฉบับประจำปี 2557 ซึ่งครอบคลุมตลาดอสังหาฯ 102 แห่งทั่วโลก พบว่า อสังหาฯทุกประเทศของอาเซียนมีค่าดัชนีความโปร่งใสสูงขึ้นจากผลสำรวจในปี 2555 ยกเว้นในพม่า เนื่องจากเพิ่งได้รับการสำรวจเป็นปีแรก อย่างไรก็ตาม แม้ค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อเทียบผลการสำรวจในปี 2555 พบว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีจากปี 2553 ถึงปี 2555 มีอัตราที่รวดเร็วกว่า ซึ่งมี 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ติดอันดับกลุ่ม 10 ประเทศของโลกที่มีดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สำหรับระดับความโปร่งใส พบว่า ตลาดอสังหาฯประเทศอาเซียนมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ อยู่ในกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก จัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ในขณะที่พม่ามีคะแนนอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาฯไร้ความโปร่งใส ส่วนไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใสปานกลาง ขณะที่ เวียดนามยังคงอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใสต่ำ

นางสุพินท์ กล่าวว่า “แม้ตลาดอสังหาฯ ไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่มที่มีระดับความโปร่งใสปานกลางเช่นเดิม แต่ค่าดัชนีความโปร่งใสมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการจัดอันดับด้วย ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย ทั้งนี้ ความโปร่งใสในตลาดอสังหาฯไทย มีค่าดัชนีที่ 2.76 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.94 ในการสำรวจปี 2555 และ 3.02 ในปี 2553 ส่วนทางด้านการจัดอันดับ ในปีนี้ประเทศไทยขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 36 จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 39 ในผลการสำรวจของปี 2555 และปี 2553”

“การที่มีข้อมูลเปิดเผยมากขึ้นทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย ซึ่งต่างจากในอดีตที่เรามีปัญหาค่อนข้างมาก จากการที่เจ้าของ นักลงทุน ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือแม้แต่ผู้เช่า มักไม่เปิดเผยธุรกรรมการลงทุน ซื้อ-ขาย หรือเช่า ทำให้ไม่มีข้อมูลด้านราคาซื้อขายหรือค่าเช่าที่เกิดขึ้นจริงสำหรับนำมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาตลาดที่เหมาะสมได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น