“คลัง” เผยการใช้จ่ายในประเทศเดือน พ.ค. เริ่มดีขึ้น หลังการเมืองคลี่คลาย ส่งผลให้การใช้จ่ายรัฐเร่งขึ้น และเอกชนมั่นใจขึ้น ยันเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะเริ่มมีแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังแข็งแกร่ง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มดีขึ้น ทั้งจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน หลังจากวิกฤตการเมืองได้คลี่คลายลง ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเร่งขึ้น และภาคเอกชนมั่นใจขึ้น แต่การใช้จ่ายต่างประเทศเริ่มลดลงทั้งส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะเริ่มมีแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังแข็งแกร่ง
เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ 2.3% ต่อปี ตามการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยขยายตัว 5.0% ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัว 0.1% ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายปูนซีเมนต์ ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น 13.3% ส่งผลให้ 8 เดือนเบิกจ่ายได้แล้ว 62%
“เดือน พ.ค. ถือเป็นเดือนหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากนี้มองว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ จะกลับมามีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นไป” นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทาง สศค.แจ้งว่า จะมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการแถลงข่าวปรับประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ให้สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกันของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเศรษฐกิจล่าสุด เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นประจำทุกเดือน โดยเดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นคิวของ ธปท.จากเดิม สศค.จะมีการแถลงก็จะเลื่อนไปเป็นเดือน ก.ค. และอีกครั้งคือเดือน ต.ค. ซึ่งในเดือนอื่นๆ ก็จะมีตัวเลขของ สศช. และ ธปท.ออกมาแทน