xs
xsm
sm
md
lg

แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค Q1 ปีนี้ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ว่า มีผลขาดทุนสุทธิกว่า 7 ล้านบาท เหตุบริษัทย่อยมีปริมาณการขายและส่งมอบงานลดลง และกำไรจากการขายเงินลงทุนลดลง อีกทั้งการการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อย และขาดทุนจากการด้อยค่าของอาคารที่ไม่ได้ใช้งาน

นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ CEN แจ้งผลงานไตรมาสแรกปี 57 สิ้นสุด 31 มีนาคม 57 ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 7.53 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 57.01 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยมีปริมาณการขาย และส่งมอบงานได้ลดลง กำไรจากการขายเงินลงทุนลดลง และบริษัทย่อยมีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และขาดทุนจากการด้อยค่าของอาคารที่ไม่ได้ใช้งาน

งวดนี้ CEN และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 503.26 ล้านบาท ลดลง 92.29 ล้านบาท หรือลดลง 15.50% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 595.55 ล้านบาท อันเป็นผลจากรายได้จากการขาย 307.39 ล้านบาท ลดลง 47.70 ล้านบาท หรือลดลง 13.43% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้ 355.09 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยมีปริมาณการขายสินค้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากงานโครงการ 171.01 ล้านบาท ลดลง 34.60 ล้านบาท หรือลดลง 16.83% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้ 205.61 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยส่งมอบงานให้แก่ลูกค้าได้ลดลง และรายได้อื่น 24.86 ล้านบาท ลดลง 3.78 ล้านบาท หรือลดลง 13.20% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับงวดนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าและงานโครงการ 48.34 ล้านบาท คิดเป็น 10.17% ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตรากำไร 11.35% เนื่องจากปริมาณการขายลดลง และส่งมอบงานให้แก่ลูกค้าลดลง

ขณะที่งวดนี้มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 503.84 ล้านบาท ลดลง 34.75 ล้านบาท จากไตรมาสแรกปี 56 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 538.59 ล้านบาท หรือลดลง 6.45% อันเป็นผลจากต้นทุนขายสินค้าลดลง 37.60 ล้านบาท หรือลดลง 12.41% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยผันแปรไปตามปริมาณการขาย ต้นทุนงานโครงการลดลง 15.31% ซึ่งผันแปรไปตามปริมาณงานโครงการที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทย่อยมีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้การค้า 12.08 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้การค้าของบริษัทย่อย (บมจ.เอื้อวิทยา) 9.29 ล้านบาท ซึ่งค้างชำระนานเกิน 1 ปี

แบ่งเป็นลูกหนี้การค้า บมจ.อีเอ็มซี 0.70 ล้านบาท และลูกหนี้การค้าบุคคลภายนอก บจ.เอสทีเอ็น คอนสตรัคชั่น 8.59 ล้านบาท ซึ่งบริษัทย่อยได้มีการติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้รับแนวทางการชำระเงินที่ชัดเจน ขณะที่บริษัทย่อยมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของอาคาร ซึ่งไม่ได้ใช้งานด้วยเกือบ 8 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น ฝ่ายบริหารได้เพิ่มมาตรการในการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้เข้มงวดมากขึ้น และเร่งรัดติดตามทวงถามหนี้ที่ค้างชาระอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้ที่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้วจะดำเนินการทวงถามตามขั้นตอนของบริษัทต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น