xs
xsm
sm
md
lg

“อนันต์” บิ๊กแลนด์ฯ เผยไปทั้ง 2 ม็อบ ชี้ทุกฝ่ายมีเหตุผล แต่ “หาข้อยุติไม่ได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

   ในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
“อนันต์ อัศวโภคิน” บิ๊กแลนด์ฯ ยอมรับไปเวทีเสื้อแดง ถ.อักษะจริง โอดตอนไปอโศกไม่เห็นมีคนมาถ่าย ยันแค่สังเกตการณ์ฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย มีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่ แต่หาข้อยุติไม่ได้ ส่งสัญญาณอสังหาฯ ปีนี้ขยายตัวติดลบ กำลังซื้อซบเซา ห่วงหนี้เสีย

หลังมีภาพ นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานคณะกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ยืนสังเกตการณ์ด้านข้างเวทีชุมนุม นปช. ที่ถนนอักษะ เมื่ออาทิตย์ที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สร้างความฮือฮา และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลอย่างมาก

ล่าสุด ในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวานนี้ (14 พ.ค.) นายอนันต์ อัศวโภคิน ได้กล่าวบนเวทีในงานสัมมนาว่า “ได้มีโอกาสได้ไปในที่ชุมนุม ไปฟังทั้งสองฝ่าย เผอิญโชคดีฝั่งหนึ่งอยู่หน้าบ้าน อีกฝั่งอยู่หน้าโครงการหมู่บ้าน ไปฟังว่าฝั่งหนึ่งพูดว่าอย่างไร และอีกฝั่งพูดอะไร ตอนที่ไปฟังที่เวทีอโศกไม่เห็นมีใครมาถ่าย”

ทั้งนี้ เท่าที่ได้ฟังด้วยตัวเอง ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่ดีทั้งคู่ แต่เหตุผลของทั้งสองฝ่ายไปด้วยกันไม่ได้ หาข้อยุติไม่ได้ หรือตรงกลางที่พอเจรจาและสรุปกันได้ คนไทยกันเองน่าจะจบกันได้ เพราะเราบอกมีพรหมวิหารสี่ ตอนนี้มีพรหมวิหารสองเท่านั้น

“เท่าที่ได้ฟังข้อมูลสองฝ่ายมีเหตุผลที่ดีทั้งสองฝ่าย แต่ไปด้วยกันไม่ได้แน่นอน อ.วีรพงษ์ (ดร.โกร่ง) บอกเมื่อครู่ว่าปฏิวัติไม่มี ม.7 ไม่ได้ เลือกตั้ง ท่านบอกหนังเรื่องเก่าฉายซ้ำอีก มีการชี้ผิด วนกลับมาอีกหนึ่งรอบ ท่านใช้คำที่เรียกว่าอุจจาระไม่สุด สู้ท้องเสียขี้ราดไปเลยดีกว่า อย่างนี้ออกจากบ้านยังปวดท้องตลอด” นายอนันต์ กล่าว
   ปรากฎตัวในการชุมนุมของนปช.ถนนอักษะ
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า เป็นห่วงเรื่องเอ็นพีแอล สถานการณ์อย่างนี้มีทางเดียวที่แนะนำได้ ตนเองพยายามจะอ่านสื่อน้อยที่สุดเรื่องการเมือง เพราะเราต้องใช้ความคิดเรื่องการประกอบการธุรกิจ ส่วนแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราติดลบ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคซบเซา ประกอบกับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ลูกค้ารายย่อยมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบปรับตัวสูงขึ้นแตะ 20-30% จากการซื้อรถยนต์ บ้าน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ตลาดที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวได้ยังเป็นกลุ่มบ้านเดี่ยวระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูง เป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2 ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รองรับลักษณะประชากรศาสตร์ของไทยที่เข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งตลาดต่างจังหวัดก็ยังมีโอกาสเติบโต ส่วนที่น่าเป็นห่วงจะเป็นตลาดคอนโดมิเนียม ที่ปริมาณห้องชุดออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่เข้ามาทดแทนตลาดเช่า ซึ่งในอนาคตตลาดก็จะเริ่มอิ่มตัวและกลับเข้าสู่สภาวะปกติที่มีซัปพลาย 20,000-30,000 ยูนิต จากปัจจุบันสูงถึง 60,000-70,000 ยูนิต

“ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ยังไงก็ติดลบอยู่แล้ว เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ขณะที่แบงก์พาณิชย์ก็ปรับตัวโอเวอร์มากไป หลังจากเจอหนี้เอ็นพีแอล ทำให้การปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์) สูงถึง 20-30% ซึ่งเข้าใจว่าพอร์ตสินเชื่อบ้านของแบงก์มีมาก เลยทำให้เข้มงวด แต่โอเวอร์ไป ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง” นายอนันต์ กล่าว

สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ จะเน้นการปรับภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำ ทำให้เป็นห่วงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับเอสเอ็มอี ที่อาจจะขาดสภาพคล่อง และทำให้รายใหญ่เข้ามากินส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น เพราะรายใหญ่ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และไม่มีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง และมีประสบการณ์จากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 อย่างไรก็ตาม จากการประเมินวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะเริ่มจากผู้ประกอบการฐานล่าง คือ เอสเอ็มอีไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารพาณิชย์เป็นอันดับแรก

“ตอนนี้เราตายด้วยมีดที่เลือดจะไหลออกเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ต่างจากวิกฤตครั้งก่อนที่เราตายด้วยปืนนัดเดียวจบ และขณะนี้ค่อนข้างเป็นห่วงเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์อย่างนี้ทางเดียวที่ทำได้ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง ตัดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน อย่างปี 2540 ที่บริษัทเริ่มลดค่าจ้างพนักงานที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้บริษัทอยู่ได้ เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่เกิน 6 เดือน”


กำลังโหลดความคิดเห็น