ธปท.ให้เวลาแบงก์พาณิชย์ต่างประเทศ 2 แห่ง จัดตั้งธนาคารที่เป็นบริษัทลูกในไทย ภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการจัดตั้งออฟฟิศ และวางระบบไอที
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ส่งรายชื่อธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 2 แห่ง ซึ่งผ่านการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูก (Subsidiary) ในประเทศไทย เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติ เมื่อใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติแล้ว ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีเวลา 1 ปี ในการจัดตั้ง Subsidiary และเปิดให้บริการ ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีเวลาในการจัดตั้งออฟฟิศ และวางระบบไอที
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ธปท.อาจพิจารณาผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งโดยปกติธนาคารพาณิชย์ต่างชาติจะคืนใบอนุญาตสำนักงานผู้แทน เนื่องจากขอบเขตการดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตสำนักงานผู้แทนทำได้น้อยมาก ไม่สามารถให้บริการในลักษณะธุรกรรมทางการเงิน ขณะที่ใบอนุญาตจัดตั้ง Subsidiary สามารถให้บริการในลักษณะครบวงจร (Universal Banking) ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีใบอนุญาตสำนักงานผู้แทนอีกต่อไป
ส่วนแบงก์ในอาเซียนไม่ได้ยื่นขออนุญาตเป็นธนาคารพาณิชย์ในรอบที่ครบกำหนดการยื่นใบสมัครเมื่อสิ้นปี 2556 ดังนั้น หากมีความสนใจจะเข้ามาทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย คงต้องรอให้มีการเจรจาเรื่องมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์อาเซียน หรือ Qualified ASEAN Banks (QAB) เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือในกลุ่มประเทศมาชิกอาเซียน เมื่อการหารือดังกล่าวเสร็จสิ้น จึงจะเปิดให้แบงก์ในอาเซียนยื่นคำขอได้ ทั้งนี้ อาเซียนมีแผนให้มี QAB ดำเนินการในอาเซียนภายในปี 2563