จับตา “สิงห์” ผงาดธุรกิจอสังหาฯ หลังสันติ ภิรมย์ภักดี-สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ฯ แบ็กดอร์ “รสาฯ” มูลค่าทางบัญชี 5.4 พันล้านบาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดโอนกิจการแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.57 พร้อมเตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น “สิงห์ เอสเตท”
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)(RASA) แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จากทุนจดทะเบียนเดิม 549,998,401บาท เป็นทุนจดทะเบียน 4,712,350,732 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 4,162,352,331 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)
โดยจัดสรรเพื่อใช้ชำระเป็นค่าตอบแทนให้แก่ บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้) สำหรับหุ้นสามัญของบริษัท เอส ไบร์ทฟิวเจอร์ จำกัด (เอส ไบร์ทฟิวเจอร์) ให้แก่นายสันติ ภิรมย์ภักดี (นายสันติ) สำหรับหุ้นสามัญของบริษัท สันติบุรี จำกัด (สันติบุรี) ตามแผนการรวมธุรกิจของบริษัทฯ โดยการรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer (EBT)) (แผนการรวมธุรกิจ)
พร้อมกันนี้ยั งอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการรวมธุรกิจของบริษัทฯ กับ (ก) สันติบุรี จากนายสันติ และ (ข) เอส ไบร์ทฟิวเจอร์ จากสิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ โดยการรับโอนกิจการทั้งหมด (EBT) โดยมีรายละเอียดดังนี้ การรับโอนกิจการทั้งหมด (EBT) ของสันติบุรี และเอสไบร์ทฟิวเจอร์ จะประกอบด้วยสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดของบริษัททั้งสอง รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงสิทธิ หน้าที่ภาระ ข้อผูกพันต่างๆ และความรับผิดใดๆ และความรับผิดชอบ ที่สันติบุรี และเอส ไบร์ทฟิวเจอร์ มีหรือพึงมี ณ วันรับโอนกิจการ ซึ้งรวมถึงหุ้นทั้งหมดที่ เอส ไบร์ทฟิวเจอร์ ถืออยู่ใน (ก) บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 (ข) บริษัท ภิรมย์พัฒน์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 และ (ค) บริษัท แม็กซ์ ฟิวเจอร์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 (ธุรกรรมการรับโอนกิจการทำงหมด)
โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรกำหนดให้บริษัทฯ จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวน 4,162,352,331 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ (ก) นายสันติ ในราคาหุ้นละ 1.87 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท และ (ข) สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ ในราคาหุ้นละ 1.87 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,483,598,859 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการโอนกิจการทั้งหมดของสันติบุรี และเอส ไบร์ทฟิวเจอร์ ให้แก่บริษัทฯ แทนการชำระด้วยเงินสด (Pay in Kind) (ธุรกรรมการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน) (รวมเรียกว่า ธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน)
ทั้งนี้ ภายหลังจากการได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ นายสันติ จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ หากกระบวนการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการซื้อหุ้น และการทำคำเสนอซื้อหุ้นเสร็จสิ้นลงแล้ว นายสันติ และสิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ (Mandatory Tender Offer(MTO) โดยราคาการทำ MTO ราคาหุ้นละ 1.87 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,483,598,859 บาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอนุมัติการลงนามในสัญญายกเลิกสัญญาจัดการลงทุนระหว่างบริษัท รสาฯ และสยามไพร์ม เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2550 ทำให้มีผลผูกพันในส่วนพื้นที่เช่าของโครงการ The Light House จำนวน 5,861.45 ตารางเมตร มูลค่าทางบัญชี 134.77 ล้านบาท ราคาประเมิน 181 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของบริษัท รสาฯ 70% และสยามไพร์ม 30% หรือมูลค่า 51 ล้านบาท โดยบริษัทจำต้องชำระเงินส่วนนี้ให้แก่สยามไพร์ม ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ 100% ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการพื้นที่มากขึ้น
เนื่องจากสยามไพร์ม เป็นนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการ ได้แก่ น.ส.กนกรส พงศทัตและนายธนพัฒน์ สุวรรณสรางค์ (ถือหุ้นรวมกัน 44%) เป็นลูกสาว และคู่สมรสของลูกสาว ของรศ.มานพ พงศทัต กรรมการของบริษัทฯ อันมีผลให้สยามไพรม์ ถือเป็นบุคคลที่มีเกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ
เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการรับโอนกิจการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัท รสา เป็น “บริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)” ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดแล้วเสร็จ โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้บริษัท แอดไวเซอรี่พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อจัดทำความเห็นต่อธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมด และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มภิรมย์ภักดี หรือเบียร์สิงห์ ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่เมื่อประมาณปี 2554 โดยชนะประมูลซื้อที่ดินผืนงามสถานทูตญี่ปุ่น จำนวน 9 ไร่ และที่ดินขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) อีก 1 ไร่เศษแปลงติดกัน บริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี เพื่อนำมาพัฒนาโครงการคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ทั้งประเภท โครงการค้าปลีก ที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากในระยะเวลาดังกล่าว สภาพเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง ทำให้ต้องชะลอแผนการลงทุนออกไปก่อนเพื่อประเมินภาพรวมตลาด และเศรษฐกิจอีกครั้ง
สำหรับที่ดินสถานทูตญี่ปุ่น บริเวณอโศก ถือว่ามีศักยภาพสูง และอยู่ในทำเลที่เป็นย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่ต่อไปถึงเส้นพระราม 9 ที่มีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าชื่อดังเปิดให้บริการ อีกทั้งที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ห่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี 20 เมตร และห่างสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน 200 เมตร ขณะเดียวกัน ในเรื่องของผังเมืองรวม กทม.ยังเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่
นอกจากนี้ กลุ่มเบียร์สิงห์ยังได้ประกาศซื้อที่ดินย่านดุสิต พญาไท บางซื่อ บางพลัด เพื่อพัฒนาอาคารสำนักงาน และให้เช่าพื้นที่ รับการเติบโตของธุรกิจ และบริษัทในเครือ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานใหญ่บนถนนสามเสน เริ่มมีความแออัด รวมทั้งพนักงานของบริษัท และบริษัทในเครือก็มีจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าย่านสามเสนแปลงนี้หากพิจารณาแล้วติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และหากในอนาคตการก่อสร้างรัฐสภาแล้วเสร็จ ภาครัฐ ลงทุนสร้างโครงข่ายคมนาคมรองรับ อาจจะรวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกายเป็นรูปธรรม ก็น่าจะเป็นผลดีต่อราคาที่ดิน รวมถึงแลนด์แบงก์แปลงอื่นๆ ของกลุ่มเบียร์สิงห์อีก
ด้วยความใหญ่โตของกลุ่มบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด หรือเบียร์สิงห์ ทำให้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า แผนการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ของกลุ่มจะเป็นเช่นไรหลังจากนี้ จะวาง “สิงห์ เอสเตท” ในไว้ตำแหน่งใด ลงทุนในอสังหาฯ ประเภทไหน เซกเมนต์ใด และจะผลักดันให้ สิงห์ เอสเตท ยิ่งใหญ่เพียงใด