สศค.หั่นเป้าจีดีพีปี 57 เหลือโตแค่ 2.6% จากเดิมที่คาดไว้ 4% หลังการเมืองวุ่น พร้อมคงเป้าส่งออกที่ 5%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2557 ลงหลังจากไตรมาส 1/2557 ได้รับปัจจัยลบจากผลกระทบสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ โดยมองว่า การส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวจะกลับมาเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
“จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงแรกของปีได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จากครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้”
สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1-3.1) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 2556 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยเฉพาะแผนการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าขัดรัฐธรรมนูญ และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งศาลปกครอง และการยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และคาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2557 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-7.0) ขณะที่การส่งออกบริการแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0-3.0) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป
นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง และแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้น อาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในปี 2557
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8-1.7 ของ GDP)
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง เช่น การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการปรับลด QE ที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทย แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงไปบ้างจากมาตรการลดความร้อนแรงในการลงทุนของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรม