xs
xsm
sm
md
lg

“เอพี” เปิดโลกทัศน์งานดีไซน์สไตล์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ญี่ปุ่น” มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านงานดีไซน์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ผสมผสานแนวคิดสมัยใหม่กับวัฒนธรรมดั่งเดิม โดดเด่นด้วยรูปทรง พรั่งพร้อมด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน ยังให้ความรู้สึก “เรียบหรู” ที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และเพื่อให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของปรัชญาแนวคิดในการดีไซน์ในแบบฉบับของเจแปนนิสมากยิ่งขึ้น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับการใช้ชีวิตแบบคนเมือง จึงได้ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เซเคอิ จำกัด บริษัทสถาปนิกในเครือ มิตซูบิชิ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ Every Inch Matters – Principles of Japanese Design นำเสนอกระบวนความคิดในการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยใช้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด รวมถึงการถ่ายทอดปรัชญาแนวคิดการดีไซน์แบบญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับไลฟ์สไตล์ของคนไทย โดยมีคนดังมาร่วมฟัง เช่น แนท-วสุ วิรัชศิลป์, หมู-จุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล, ดวง-วรรณพร โปษยานนท์, จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว, โอ่ง-กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์, ภารวี วงศ์จิรชัย, มะลิ จาตุรจินดา และบรรดาแขกผู้มีเกียรติตบเท้าร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมด้วยศิลปินสถาปนิกสาวเก่ง ญารินดา บุนนาค มานั่งพูดคุยเป็นพิธีกรตลอดรายการ ณ Auditorium Room TCDC

โดย วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด ได้เชิญ 2 กูรูชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น มร.เททสึยะ โอคุสะ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ (นานาชาติ) และ มร.โชอิจิโระ โทบะ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เซคเคอิ จำกัด ซึ่งมีผลงานการออกแบบชื่อดังอย่างเช่น โรงแรมเพนนินซูล่า ย่านกินซ่า และจัดวางผังเมืองเขตมารุโนะอุจิ (Marunouchi) แหล่งธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงโตเกียว มาร่วมแชร์ไอเดียว่า

“แนวคิดหรือปรัชญาการออกแบบสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นที่สำคัญนั้น ประการแรก คือ 1) Kohji & Shoji อีกหนึ่งแนวคิดภายใต้เอกลักษณ์เฉพาะตัวของการออกแบบสถาปัตยกรรมประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ Grid & Line มาประยุกต์ในงานการออกแบบ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นคำว่า Kohji หมายถึงจังหวะ เส้นไม้ระแนงที่ซ้ำกันต่อเนื่องแบบเป็นจังหวะ และ Shoji หมายถึง หน้าต่าง หรือประตูบานเลื่อนที่อยู่คู่กับเสื่อทาทามิ หลักการนี้ได้ถูกประยุกต์บนการออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมโครงสร้าง และงานออกแบบภายในตัวบ้าน ด้วยความโดดเด่นของ Grid & Line Architect - Interior - Landscape จะช่วยให้มุมมองการจัดตำแหน่งแนวผนัง หน้าต่าง ประตู ก่อให้เกิดงานดีไซน์ที่มีความลงตัว ความเรียบร้อย และมีความสมดุลย์มากยิ่งขึ้น ประการที่ 2 ENGAWA -Inside out, Outside in การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารให้มีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ การออกแบบผนังจากภายในเชื่อมต่อออกไปภายนอกพื้นที่ของสวนธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ในร่ม และกลางแจ้งปราศจากสิ่งขวางกั้น ผู้อาศัยสามารถสัมผัสความรู้สึกโปร่งสบายใกล้ชิดธรรมชาติ ประการที่ 3 Light & Shadow เทคนิคการให้แสงและเงา เพื่อชวนค้นหา ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการดึงผู้คนให้สนใจ และอยากเข้าไปค้นหาคำตอบในตัวงานว่ามีความสวยงามมากน้อยเพียงใด ประการที่ 4 การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของงานให้เกิดความสมดุล และใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ประการที่ 5 เน้นความมีมิติ และความลึกลับ เปรียบเสมือนการดูหนัง ที่เราไม่มีทางคาดเดาได้ว่าตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร ประการที่ 6 เป็นการใช้เส้นโค้งเพื่อให้ความรู้สึกถึงความน่าค้นหา และการรอคอยเพื่อค้นพบอะไรบ้างอย่าง ประการที่ 7 การสร้างความเหลื่อมล้ำของสเปซ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นกับงานสถาปัตยกรรม ประการที่ 8 ด้วยภูมิอากาศของญี่ปุ่น ช่วงหน้าร้อนแดดจะแรงมาก ขณะที่หน้าฝนก็จะมีฝนตกหนัก เพราะฉะนั้นคนญี่ปุ่นจึงออกแบบชายคาค่อนข้างยื่นออกมา ซึ่งนอกจากจะเพื่อประโยชน์ด้านการใช้งานแล้ว ยังทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความมืด และความสว่างภายในกับภายนอกอาคาร หรือสร้างความคอนทราสต์ให้แก่ผลงานนั้นเอง และ ประการสุดท้าย คือ การออกแบบให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยวางองค์ประกอบของลายเส้นเพื่อให้เกิดความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

“ออกแบบให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม”

ด้านดีไซเนอร์สาวมั่น หมู-จุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล แชร์ประสบการณ์ความชื่นชอบในงานดีไซน์เมืองปลาดิบว่า “หมูชอบความเป็นเจแปนนิสด้วยจุดเด่นที่มีความเรียบง่ายแต่ลงตัว ซึ่งตอนเรียนหมูยังได้ทำรีเสิร์ชด้านเจแปนนิสโปรดักต์ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นนั้นมีกระบวนการความคิดอย่างไรก่อนที่จะออกมาเป็นผลงานสักหนึ่งงาน และอีกอย่างที่เห็นคือ ถึงแม้ไลฟ์สไตล์ของเมืองจะเปลี่ยนไปแต่เค้าก็สามารถออกแบบ และจัดการพื้นที่ใช้สอยขนาดเล็กได้อย่างลงตัวมากค่ะ”

• แนท-วสุ วิรัชศิลป์
Q : เมื่อพูดถึง Art of Japan ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ, งานสถาปัตยกรรม หรือแฟชั่นดีไซน์ ชื่นชอบหรือประทับใจอย่างไรบ้าง?
: สำหรับงานดีไซน์ของญี่ปุ่นผมมองว่าค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีการสานต่อทางด้านวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมัยก่อนนั้นอาจจะยังดูไม่ค่อยโมเดิร์น ซึ่งเวลาผ่านไปมีการพัฒนาให้ดูสมัยแต่ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีกลิ่นอาย มีวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นอยู่สูง อีกประการคือ ญี่ปุ่นจะใช้วัสดุที่อิงกับธรรมชาติ ไม่ใช้สีจัดจ้าน และค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องการสร้างสเปซที่มี value โดยเฉพาะเมืองโตเกียวนับเป็นต้นแบบที่ทำให้เห็นการดีไซน์อย่างชาญฉลาด ด้วยที่ดินที่มีราคาแพงจึงทำให้การออกแบบตึกต้องทรงผอมๆ ชะลูดๆ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย เช่น การออกแบบบันไดโดยเพิ่มฟังก์ชันให้เป็นที่เก็บของไปในตัว เป็นต้น
Q : จากความชื่นชอบ และความประทับใจได้นำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเองหรืองานที่ทำอย่างไรบ้าง?
: ซึ่งการไปญี่ปุ่นในหลายๆ ครั้ง ผมรู้สึกว่าญี่ปุ่นสามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างฉลาด และไม่มีใครทำได้ดีเท่าประเทศนี้ จึงเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในชีวิตของผมได้หลายอย่าง เช่น การออกแบบพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นบ้าน, ออฟฟิศ หรืองานใดๆ ก็ตามที่เน้นเรื่องของพื้นที่โดยจะเพิ่มฟังก์ชันอื่นเข้าไปอีกหนึ่งฟังก์ชัน เช่น บันไดที่อาจจะเป็นชั้นวางหนังสือ, ห้องทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำงานเปิดตัวโชว์รูมมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่ง ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งผมมองไม่เป็นเพียงแค่งานขายของ เพียงอย่างเดียวแต่ต้องการทำกึ่งๆ พิพิธภัณฑ์ด้วยเพราะมีการนำมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่รุ่นปีแรกๆ ที่ผลิตมาโชว์ และเพื่อเกิดจุดสนใจ จึงนำฟังก์ชันบันไดซึ่งแทนที่จะเป็นบันไดเฉยๆ เพื่อใช้สำหรับเดินขึ้นชั้น 2 ก็นำมาเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่องราวของตัวสินค้าครับ

• จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว
Q : เมื่อพูดถึง Art of Japan ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ, งานสถาปัตยกรรม หรือแฟชั่นดีไซน์ชื่นชอบหรือประทับใจอย่างไรบ้าง?
: ก็คงเป็นเรื่องของความเรียบง่าย เป็นเรื่องของการจัดสรรพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยสูงสุด เนื่องจากสภาพความเป็นไปของสังคมในประเทศญี่ปุ่นเองที่ก็ไม่ได้ใหญ่โตมาก แต่ว่ามีพลเมืองจำนวนประชากรเยอะ การจัดสรรพี้นที่แต่ละตารางนิ้ว ตารางเสื่อ จึงมีความจำเป็น จนเป็นที่ยอมรับระดับโลก ข้อสำคัญมีดีไซน์หลายอย่างของเค้าที่อิงแอบกับธรรมชาติ มีความเป็นมินิมอลลิสต์คือ ไม่น้อยไม่มากเกินไป ซึ่งพอแตกตัวออกมาเป็นการดีไซน์ การออกแบบ หรือว่าการตกแต่ง สิ่งเหล่านี้ก็จะแฝงอยู่ในวิญญาณการตกแต่งของเค้า สำหรับผมถือว่าอันนี้เป็นลายเซ็นที่ชัดเจนและเป็นสิ่งที่ผมชื่นชม อย่างการจัดสวนแบบญี่ปุ่นจะเห็นว่าไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือยมาประดับอย่างเกินความจำเป็น หินเพียง 2-3 ก้อน สามารถแทนภูเขา ทางน้ำหยดเล็กๆ แทนสายธารน้ำตก กิ่งไม้อาจจะเพียงไม่กี่กิ่งแทนป่า นั้นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจน และก็แสดงถึงความประหยัด และรักธรรมชาติของญี่ปุ่น
Q : จากความชื่นชอบและความประทับใจได้นำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเองหรืองานที่ทำอย่างไรบ้าง?
: ผมว่าความเป็นมินิมอลลิสต์ ความประหยัด ความไม่ฟุ่มเฟือย ความไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งเป็นแก่นของธรรมชาติที่สะท้อนอยู่ในสไตล์ของญี่ปุ่น นับเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ และใช้ได้ในทุกสังคมครับ

• ดวง-วรรณพร โปษยานนท์
Q : เมื่อพูดถึง Art of Japan ซึ่งไม่ว่าจะเป็น งานออกแบบ, งานสถาปัตยกรรม หรือแฟชั่นดีไซน์ชื่นชอบหรือประทับใจอย่างไรบ้าง?
: ดวงเป็นคนชอบในเรื่องของเจแปนนิสดีไซน์อยู่แล้ว ดวงว่าญี่ปุ่นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ หรือแฟชั่น สังเกตแฟชั่นดีไซเนอร์หลายคนเค้าจะชอบเล่นกับฟอร์มที่เค้าได้สร้างขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า ดีคอนสตรักชัน (Deconstruction) ซึ่งดีคอนสตรักชันเป็นฟอร์มที่ดวงชอบคือ การตัดทอน หรือการเพิ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างเก่าจากฟอร์มที่คลาสสิกมาสร้างเป็นฟอร์มใหม่ หรือแม้แต่งานสถาปัตยกรรม, งานดีไซน์อื่นๆ เช่น โปรดักต์ดีไซน์ของญี่ปุ่นก็ชอบ เพราะเค้ามีความเป็นมินิมอล เค้าสามารถลิงก์อะไรเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเค้ามีหลักในด้านความคิดที่ค่อนข้างชัดเจน
Q : จากความชื่นชอบและความประทับใจได้นำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเองหรืองานที่ทำอย่างไรบ้าง?
: สำหรับดวงน่าจะเป็นแฟนในฐานะคนใช้มากกว่า เพราะว่าแบรนด์ดีไซน์ของดวงนั้นจะชอบศิลปะแนวเซอร์เรียล คือ การเล่นฟอร์มกับมิติ หรือออฟเจกต์ หรือคู่สีที่แปลกแตกต่าง ที่ค่อนข้างเป็นกราฟิกหน่อยค่ะ

พร้อมกันนี้ ทั้ง 2 กูรูยังได้เชิญชวนผู้ที่สนใจอยากชมผลงานที่เกิดขึ้นจากการผสานความร่วมมือด้านดีไซน์ร่วมกันระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ เอพี และ มิตซูบิชิ จิโช เซคเคอิ กับ 3 โครงการบน 3 ทำเลคุณภาพ รอให้ร่วมพิสูจน์เร็วๆ นี้ที่งาน Rethink Space ณ ชั้น 1 สยามพารากอน วันที่ 15-18 พฤษภาคมนี้

(ข่าวประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น