“ธ.ออมสิน” ยอมรับปล่อยกู้ “อินเตอร์แบงก์” ให้แก่ ธ.ก.ส. จริงตามการร้องขอของธนาคารของรัฐด้วยกันเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ย้ำไม่ใช่เงินฝาก ปชช. พร้อมแจงยังมีธนาคารอีก 35 แห่ง ที่มีการปล่อยกู้เป็นเงินกว่าแสนล้าน พร้อมฝากขอวิงวอน ปชช. อย่าแห่ถอนเงิน
วันที่ 16 ก.พ. นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดแถลงข่าว ยืนยันการปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารด้วยกัน (อินเตอร์แบงก์) เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ตามการร้องขอของธนาคารของรัฐด้วยกัน ซึ่งเงินที่ใช้ไม่ได้เป็นเงินฝากของประชาชน
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อให้กับ ธ.ก.ส. ในรูปแบบอินเตอร์แบงก์เรต หรือ การปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารจริง โดยออกเป็นตั๋วสัญญากู้เงิน หรือ P/N ในวงเงิน 5 พันล้านบาท ในระยะสั้น 30 วัน ไม่ได้ให้กู้นานถึง 9 เดือน และวงเงินกู้สูงถึง 2 หมื่นล้านบาทตามกระแสข่าวที่ออกมา ซึ่งเป็นการนำเงินจากกำไร และเงินทุนสะสม ไม่เกี่ยวข้องกับเงินฝากของประชาชน ดังนั้นจึงอยากให้ลูกค้าของธนาคารมีความสบายใจและมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะของธนาคารและมีความเสี่ยงกับเงินฝากอย่างแน่นอน
โดยการอนุมัติเงินกู้ครั้งนี้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่กันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติกรอบวงเงินการกู้ยืมสำหรับธ.ก.ส.ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้เบิกเงิจจำนวน 5 พันล้านบาทออกไปเพื่อเสริมสภาพคล่องซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วน ธ.ก.ส.จะใช้เพื่อดำเนินธุรกรรมใดๆ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของ ธ.ก.ส.ธนาคารออมสินไม่สามามารถไปก้าวก่ายได้
“การปล่อยสินเชื่อให้ ธ.ก.ส.ครั้งนี้ เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน แต่ ธ.ก.ส.จะนำวงเงินไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธ.ก.ส.เอง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ออมสินเคยให้สินเชื่อในลักษณะนี้กับธนาคารของรัฐด้วยกันมาก่อน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระหว่างแบงก์รัฐด้วยกัน ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส.นั้น ก็เคยได้รับสินเชื่อดังกล่าวจากออมสินไปแล้ว และมีการชำระคืนตามปกติ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” นายวรวิทย์กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวว่า การฝากถอนเงินของธนาคารออมสินยังไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใด โดยธนาคารมียอดเงินฝาก 1.87 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ 2.17 ล้านล้านบาท โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามออมสินอยากจะขอร้องให้ประชาชนเข้าใจและไม่แห่ออกมาถอนเงิน เพราะที่ผ่านมาออมสินได้ให้สินเชื่อแบบอินเตอร์แบงก์และกู้ยืมระยะสั้นให้กับ 35 ธนาคารทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำธุรกิจในไทยวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทตามปกติ ดังนั้นการปล่อยกู้ครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางให้กับรัฐบาลรักษาการอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ในแต่ละครั้งออมสินจะพิจารณาจากสภาพคล่องของธนาคาร รวมถึงวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยจูงใจให้ปล่อยกู้ แต่ในช่วงนี้จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบดัานภาพลักษณ์ที่จะมีต่อกระแสสังคมด้วย
นายวรวิทย์กล่าวว่า ธนาคารออมสิน เป็นองค์กรเดียวที่ พ.ร.บ.จัดตั้ง ระบุว่า รัฐบาลเป็นประกัน และยืนยันว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการไม่ได้รับการร้องขอเงินกู้ที่จะไปใช้โครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด
ต่อข้อถามที่ว่า ธนาคารออมสินมีกรอบนโยบายปล่อยอินเตอร์แบงก์นานสุดกี่วัน วงเงินเท่าไร ถ้าเกินกรอบ สามารถทำไปได้เลยหรือต้องเข้าบอร์ดก่อน นายวรวิทย์ตอบว่า การปล่อยอินเตอร์แบงก์ครั้งนี้ เกิดจากข้อตกลงของสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จะสนับสนุนสภาพคล่องซึ่งกันและกัน โดยบอร์ดได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่ในครั้งนี้มีการขอกู้ในวงเงิน 5 พันล้านบาท ระยะเวลา 30 วัน
เมื่อถามว่า เคยปล่อยให้ใครนานถึง 30 วัน และวงเงินสูงถึง 5,000 - 20,000 ล้านบาทบ้าง นายวรวิทย์ตอบว่า การทำธุรกรรมอินเตอร์แบงก์และปล่อยกู้ข้ามคืนของออมสินในปัจจุบันปล่อยให้แบงก์ทั้ง 35 แห่งที่ทำการในประเทศไทย วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และถ้าระยะเวลายาวกว่าและวงเงินเกินกว่าที่กำหนกรอบนโยบายไว้เดิม ลูกหนี้ทุกรายก็มีสิทธิโรลโอเวอร์
เมื่อถามว่า ธนาคารมั่นใจหรือว่าสามารถรับความเสี่ยงสภาพคล่องของตัวเองได้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนถ้าปล่อยอินเตอร์แบงค์ยาวมากผิดปกติ นายวรวิทย์ตอบว่า ออมสินพิจารณาสภาพคล่องของธนาคารและผู้กู้มีความเหมาะสมหรือไม่ พิจารณาวัตถุประสงค์ว่าเพื่อไปเสริมสภาพคล่องหรือไม่ และพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งพิจารณาภาพลักษณ์ของแบงก์ด้วย ทั้งนี้ ธนาคารพิจาณาตามสภาพคล่องอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเรียกหนี้จากที่อื่นก่อนปล่อยกู้